ในช่วงนี้ที่แอปพลิเคชัน Telegram เรียกได้ว่าเป็นแอปแชทที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่วัยรุ่นไทยจากเหตุการณ์ประท้วงของม็อบ เยาวชนปลดแอก ที่นำ Telegram มาใช้ในการสื่อสาร และนัดหมายตำแหน่งการจัดม็อบประท้วงได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมาก ๆ แต่ไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้ประท้วงเท่านั้นนะ เพราะแอป Telegram ก็ถือว่าเป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความที่มีผู้ใช้งานธรรมดามากมาย แต่เพราะสาเหตุอะไรล่ะ ที่ทำให้ Telegram เป็นที่นิยมได้ วันนี้ Droidsans จะมาเล่าให้ฟัง
ถ้าอธิบายโดยสังเขป แอป Telegram ก็เปรียบเสมือนแอปพลิเคชันเอาไว้ใช้ส่งข้อความต่าง ๆ เช่นเดียวกับ LINE, Whatsapp และ Facebook Messenger แต่ว่าจุดเด่นหลัก ๆ เลยก็คือแอป Telegram ถูกออกแบบมาเพื่อ ความเร็ว ความปลอดภัย และเน้นเรื่องความสะดวกเป็นที่หนึ่งนั่นเอง ซึ่งทางผู้พัฒนาก็เคลมอย่างมั่นใจมากกว่าแอป Telegram จะเป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ปลอดภัยที่สุดในตลาด และจะเปิดให้บริการฟรี ตลอดไปเรื่อย ๆ โดยไม่หวังผลกำไร
ถ้าเราจะดูว่าแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ดีเป็นอย่างไร เราก็ต้องเริ่มดูจากหน้าแชทกันก่อนเลยว่ามีฟีเจอร์การส่งข้อความที่ครบครันหรือไม่ ซึ่ง Telegram ก็เป็นแอปแชทส่งข้อความที่ดูคลีน ๆ ซิมเปิ้ล ๆ แต่ก็อัดแน่นไปด้วยฟีเจอร์การส่งข้อความที่ครบครันมาก ๆ ซึ่งหน้าแอปก็จะมาพร้อมเครื่องมือในการส่งข้อความเหมือนแอปทั่ว ๆ ไปเช่น Text Box เอาไว้พิมพ์ข้อความเพื่อส่ง ปุ่มแนบไฟล์ เอาไว้ส่งไฟล์ประเภทรูปภาพ เสียง หรือ ไฟล์เอกสารต่าง ๆ ไปจนถึงการส่ง Contact ติดต่อก็มีมาพร้อมไม่ขาดเลย
เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะมีปัญหานิ้วมือใหญ่ไปชอบพิมพ์ผิดหลาย ๆ ครั้งโดยไม่ได้ตั้งใจใช่ไหมครีบ (อันนี้ยกตัวอย่างนะครับ ) ซึ่งแต่ละคนก็จะมีการแก้ปัญหาตรงนี้ต่างกันไป เช่น พิมพ์ ** ตามด้วยคำที่ถูกต้อง โดยจริง ๆ แล้วมันก็แก้ปัญหาได้ แต่มันก็ใช้เวลาเยอะ แถมหน้าแชทก็ดูไม่เรียบร้อยด้วย Telegram ก็เลยเพิ่มฟีเจอร์ในการกด “Edit” ข้อความที่ต้องการได้เพียงแตะตรงข้อความ แล้วกด Edit เพื่อแก้ไข หลังจากนั้นตรงด้านล่างของ Chat Balloon ก็จะมีคำว่า “Edited” ขึ้นไว้เพื่อบอกว่าประโยคนี้เคยมีการแก้ไขมาก่อน
Telegram ยังมาพร้อมฟีเจอร์ในการส่งข้อความแบบไม่แจ้งเตือนเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้รับ เช่นผู้ใช้งานอาจต้องการส่งข้อความส่วนตัวหาหัวหน้าที่ประชุมอยู่ แต่ไม่อยากให้แจ้งเตือนกวนหัวหน้า ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ Silent Message เพื่อส่งข้อความแบบไม่ให้แจ้งเตือนได้ อีกทั้งในหน้าเมนูเดียวกันยังมีฟีเจอร์ Schedule Message ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อความแบบตั้งเวลาไว้ได้เช่นต้องการจะส่ง อวยพรวันเกิดให้คนพิเศษตอนเที่ยงคืนวันเกิดคนนั้นพอดี ตื่นรอไม่ไหว ก็สามารถกดตั้งเวลาเพื่อให้ Telegram ส่งให้ตอนเที่ยงคืนเป๊ะ ๆ ได้สะดวกสบายมาก ๆ ครับ
Telegram เป็นแอปที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสะดวกสบายเรื่องการส่งข้อความเป็นที่สุด เพราะงั้นจึงได้มีฟีเจอร์การแบ่ง Folder แชทที่ให้ผู้ใช้งานสามารถแบ่งหน้าแชทเป็นส่วน ๆ ได้ตามต้องการ ยกตัวอย่าง เราสามารถแยกหน้าแชทเป็นไปตามความส่วนตัวได้ เช่น งาน เพื่อน ครอบครัว หรือจะตั้งชื่อแบ่งหมวดหมู่ยังไงก็ได้ตามสะดวกเลย หมดปัญหาคุยกับเพื่อนแล้วส่งแชทผิดหาลูกค้าแน่นอนครับ ซึ่งวิธีตั้งค่า Folder ก็ง่ายมากเพียงแค่ไปที่หน้า Setting แล้วกดไปที่ Folder หลังจากนั้นผู้ใช้งานก็สามารถปรับแต่งหน้าโฟลเดอร์ได้ตามสะดวกเลย
สำหรับใครที่ชอบส่ง Emoji หรือ สติกเกอร์ก็ไม่ต้องห่วงเพราะ Telegram ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์ส่งรูปภาพประเภท Emoji, GIF หรือ Sticker ที่ถูกสร้าง และแบ่งปันกันใน Community มากมายทั้งแบบขยับ และแบบนิ่ง ๆ ให้เราสามารถได้เลือกซื้อมาใช้ได้ตามสะดวก…ล้อเล่นครับ เพราะจริง ๆ แล้วสติกเกอร์ และ GIF ทุกตัวที่ใช้ส่งใน Telegram ล้วนเปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีแบบไม่จำกัดครับ (แต่ก็ยังไม่ได้มีสติกเกอร์ถูกลิขสิทธิ์ของหนัง หรือการ์ตูนเหมือนของ LINE นะครับแต่ก็พอใช้งานแก้ขัดได้ไม่มีปัญหาเลย)
เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่คนใช้มือถือหลายเครื่องต้องการมาก ๆ อย่างฟีเจอร์ในการล็อคอินแอปส่งข้อความหลาย ๆ เครื่องพร้อมกันซึ่งก่อนนี้ LINE สามารถ Log-in 1 Account ได้เพียงคอมพ์ 1 เครื่อง และมือถือ 1 เครื่องเท่านั้นแถมมือถือเครื่องนึงยังไม่สามารถใช้ไลน์มากกว่า 1 Account ได้อีกด้วย แต่ Telegram ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่สามารถให้ผู้ใช้งานใช้บัญชี Telegram กับมือถือ หรือแท็บเล็ต หลาย ๆ เครื่องพร้อมกันได้แถมข้อมูลทุกเครื่องจะถูกอัปโหลดขึ้น Cloud server แบบ Real-time ทำให้สามารถเล่นหลาย ๆ มือถือสลับไปมาได้อย่างสะดวกสบาย แถม 1 เครื่องสามารถใช้งานได้มากกว่า 1 บัญชีได้อีกด้วย
เหมือนกับแอปพลิเคชัน LINE ตัว Telegram ก็สามารถเปิดกลุ่มแชทให้ผู้ใช้งานหลาย ๆ คนเข้าไปคุยพร้อมกันได้อีกด้วย แต่ต่างกันตรงที่ว่า 1 กลุ่มสามารถมีผู้ใช้งานเข้ากลุ่มได้สูงสุดถึง 200,000 คนพร้อมกัน (อ่านไม่ผิดครับ 2 แสน ) โดยคนที่สร้างกลุ่มก็สามารถโพสต์อะไรได้ตามสะดวก หรือเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่คนเยอะมาก ๆ เจ้าของกลุ่มก็สามารถจำกัดคนที่มีสิทธิ์พูดในกลุ่มเพื่อไม่ให้หน้าแชทโดนดันขึ้นด้านบนเร็วเกินไปนั่นเอง
นอกจากฟีเจอร์ในการส่งข้อความต่าง ๆ ที่มีมาครบครันสะดวกสบายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Telegram ต้องการโฟกัสมากที่สุดคือความส่วนตัว และความปลอดภัยในการใช้งานนั่นเอง ซึ่งตัว Telegram ก็ได้ขนเอาฟีเจอร์เกี่ยวกับความส่วนตัวมากมายมาใส่ให้ Telegram เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งตามความต้องการได้เลย
การล็อคแอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไหร่ เพราะอย่าง LINE ก็มีฟีเจอร์นี้เข้ามาใช้ด้วย โดยจะใช้เป็นรหัสตัวเลข 4 ตัวแต่ว่า Telegram ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์ความปลอดภัยที่เหนือกว่าเดิมนั่นคือระบบล็อคแอปผ่านลายนิ้วมือนั่นเอง ซึ่งผู้ใช้งานก็สามารถเลือกได้เลยว่าจะใช้ฟีเจอร์ไหนในหน้า Setting อีกทั้งตัว Telegram ไม่ได้ล็อคตัวเองทุกครั้งที่ออกจากแอป แต่เราสามารถกดล็อคที่มุมบนขวาของหน้าแชทได้เพื่อกดล็อค จากนั้นกดเคลียร์แอปเพื่อให้ระบบทำการล็อคแอปต่อนั่นเอง หรือเราจะตั้งเวลาให้แอปล็อคตัวเองหลังจากที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลาหนึ่งก็สามารถทำได้
ปกติแล้วในการใช้งานแอปแชททั่วไปก็จะมีฟีเจอร์ในการกด Unsend เพื่อยกเลิกการส่งข้อความออกได้ หรือเราจะลบประโยคนั้นออกจากฝั่งเราฝั่งเดียวก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ Telegram ทำได้มากกว่านั้น คือสามารถให้ผู้ใช้งานทั้ง 2 ฝั่งสามารถลบข้อความในหน้าแชทของทั้งคู่ได้เลย
ยกตัวอย่างเช่นนาย A กับนาย B กำลังคุยกันเพื่อวางแผนเซอร์ไพรส์วันเกิดให้นาง C แต่นาง C หยิบมือถือนาย A ไปเล่น นาย B ก็สามารถกดลบประวัติแชทของ นาย A จากเครื่องนาย B ได้เลยทำให้สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวได้
Telegram ก็มีหนึ่งฟีเจอร์น่าสนใจที่ให้ผู้ใช้งานสามารถส่งรูปหรือวิดีโอให้อีกฝั่งแล้วจำกัดเวลาในการดูให้ฝ่ายตรงข้ามได้ ยกตัวอย่างเช่นคุณต้องการส่งรูปมือถือต้นแบบ Prototype ให้ลูกค้าดูเพียงแป๊บเดียวเท่านั้น เราก็สามารถกดเลือกรูปที่ต้องการส่ง แล้วเลือกไปที่ไอคอนนาฬิกาเพื่อเลือกเวลาที่ต้องการให้อีกฝั่งดูรูป สามารถปรับได้สั้นสุด 1 วินาที และ นานสุด 1 นาที ไม่ต้องห่วงเรื่องรูปรั่วไหลแน่นอน
สำหรับใครที่ต้องการความเป็นส่วนขั้นสุดในการส่งข้อความกับใครสักคนล่ะก็ โหมด Secret Chat จะต้องตอบโจทย์คุณแน่นอน เพราะ Secret Chat จะใช้ระบบรักษาความปลอดภัยแบบ end-to-end encryption หมายความว่ามีเพียงคนส่ง และผู้รับเท่านั้นที่จะสามารถอ่านข้อความที่คุยกันได้ ต่อให้ข้อมูลที่ส่ง ๆ กันถูก Intercept (ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย) คนที่ได้ข้อมูลไปก็จะไม่สามารถอ่านข้อความได้อยู่ดีเพราะข้อความถูกเข้ารหัสเฉพาะเครื่องคนส่ง และคนรับเท่านั้น
และที่สำคัญ Secret Chat นั้นจะไม่ถูกส่งขึ้น Cloud Server ทำให้มือถือเครื่องอื่นที่บัญชีนี้เชื่อมต่ออยู่ก็ไม่สามารถอ่านได้เพราะ Secret Chat จะเข้ารหัสเครื่องที่เปิดใช้งานโหมดนี้เท่านั้น อีกทั้งตัวแอปจะทำการล็อคฟีเจอร์แคปหน้าจอเวลาเปิด Secret Chat เพื่อกันข้อมูลรั่วไหลได้นั่นเอง (แต่ถ้าเอามือถือเครื่องอื่นมาถ่ายจอก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดีนะครับ )
ด้วยความที่ Telegram เป็นแอปส่งข้อความที่เชื่อมต่อกับ Cloud Server โดยตรง ทำให้หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่า Telegram รักษาข้อมูลของเราได้ดีแค่ไหน ? ซึ่งทาง Telegram ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วน FAQ ว่า
ข้อมูลที่เก็บอยู่ใน Server Cloud จะถูกเข้ารหัสอย่างแน่นหนา และตัวรหัสที่เอาไว้เข้าเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ก็ถูกเก็บแยกไว้ที่ Data Center แห่งอื่นหลาย ๆ ที่แยกกัน ต่อให้เป็นวิศวกรที่ทำงานอยู่ในเซิร์ฟเวอร์โดยตรง หรือจะเป็นนักโจรกรรมข้อมูลบุกเข้าไปใน Server ก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานได้แน่นอน
หรือถ้าใครยังไม่มั่นใจก็ต้องลองดูเคสตัวอย่างของทางฝั่งประเทศรัสเซียที่พยายามไล่แบน Telegram มาตลอด 2 ปีสาเหตุเพราะ Telegram ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลของกลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงในรัสเซียให้กับรัฐบาล ทำให้เราได้เห็นจุดยืน และความตั้งใจของ Telegram ว่าความส่วนตัว และความปลอดภัยของผู้ใช้งานคือที่ 1 จริง ๆ ครับ
สำหรับใครที่ต้องการอยากลองใช้แอปดี ๆ แบบนี้ก็สามารถลองดาวน์โหลด แล้วชวนเพื่อนมาเล่นเป็นแอปคุยสำรองก็ได้ครับ ใช้ไปใช้มาแล้วจะรู้สึกแบบผมแน่นอนว่า Telegram เป็นหนึ่งแอปส่งข้อความที่ดีที่สุดแอปนึงในตลาด ณ ตอนนี้เลยครับ
Source: Telegram, Telegram FAQ Section
26/10/2020 05:23 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย