Apple ProRAW ที่มาพร้อมกับ iPhone 12 Pro คืออะไร ดีกว่าไฟล์ RAW ทั่วไปยังไงบ้าง - Android

Get it on Google Play

Apple ProRAW ที่มาพร้อมกับ iPhone 12 Pro คืออะไร ดีกว่าไฟล์ RAW ทั่วไปยังไงบ้าง - Android

จนถึงตอนนี้ ทุกคนคงจะได้เห็นทั้งหน้าตา ฟีเจอร์ และรายละเอียดของ iPhone 12 Pro มือถือระดับไฮเอนด์รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Apple กันไปหมดแล้ว ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากอยู่อีกหนึ่งอย่าง แต่กลับไม่เป็นที่ถูกพูดถึงสักเท่าไหร่ สิ่งนั้นก็คือ ไฟล์ภาพรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Apple ProRaw นั่นเอง โดยเจ้าสิ่งนี้จะเจ๋งยังไง ทำอะไรได้บ้าง ดีกว่าการถ่ายภาพแบบเดิม ๆ ตรงไหน ? เราสรุปมาให้แบบเข้าใจง่าย ๆ แล้วในบทความนี้ ทุกวันนี้ การถ่ายภาพในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะด้วยกล้อง DSLR […]

จนถึงตอนนี้ ทุกคนคงจะได้เห็นทั้งหน้าตา ฟีเจอร์ และรายละเอียดของ iPhone 12 Pro มือถือระดับไฮเอนด์รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Apple กันไปหมดแล้ว ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากอยู่อีกหนึ่งอย่าง แต่กลับไม่เป็นที่ถูกพูดถึงสักเท่าไหร่ สิ่งนั้นก็คือ ไฟล์ภาพรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Apple ProRaw นั่นเอง โดยเจ้าสิ่งนี้จะเจ๋งยังไง ทำอะไรได้บ้าง ดีกว่าการถ่ายภาพแบบเดิม ๆ ตรงไหน ? เราสรุปมาให้แบบเข้าใจง่าย ๆ แล้วในบทความนี้

ทุกวันนี้ การถ่ายภาพในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะด้วยกล้อง DSLR หรือโทรศัพท์มือถือ ต่างก็ล้วนมีผลลัพธ์ของไฟล์หนึ่งหรือสองรูปแบบ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน อันดับแรกคือ “ไฟล์ JPEG” ไฟล์ภาพนิ่งรูปแบบมาตรฐานที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี และเป็นรูปแบบที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายที่สุดด้วย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ ไฟล์ภาพดิบ หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ไฟล์ RAW” เป็นไฟล์ที่เน้นการแต่งภาพเป็นหลัก มีให้ใช้งานบนอุปกรณ์จำพวกกล้องถ่ายภาพดิจิทัลและสมาร์ทโฟนในระดับบน ๆ

JPEG ไฟล์พื้นฐาน สวยสำเร็จรูป พร้อมใช้งานทันที

JPEG เป็นไฟล์ที่สามารถเก็บทั้งรายละเอียดของและสีสันเอาไว้ได้เยอะ รวมถึงมีความแม่นยำสูง โดยหลักการของมันก็คือ การบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูล (lossy compression) ส่งผลให้ตัวไฟล์มีขนาดเล็กมาก ๆ ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บไปได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ JPEG ยังสามารถนำไปใช้งานต่อได้ง่าย เนื่องจากไฟล์ภาพชนิดนี้ผ่านการประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์มาในระดับหนึ่งแล้ว เช่น การเร่งแสงสี การเพิ่มคอนทราสต์ การลดนอยส์ หรือแม้แต่การเกลี่ยผิวให้เรียบเนียนด้วยโหมดบิวตี้ เป็นต้น


JPEG เป็นไฟล์ภาพนิ่งมาตรฐานที่มีใช้งานแพร่หลายที่สุด ไม่จำกัดเฉพาะภาพถ่าย แต่รวมถึงภาพนิ่งประเภทอื่น ๆ ด้วย

ในทางกลับกัน เนื่องจากข้อมูลบางส่วนของ JPEG ได้ถูกบีบอัดจนมลายหายไปแล้ว ในการปรับแต่งภาพของไฟล์ชนิดนี้จึงทำได้ไม่ละเอียดเท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแลกมา

RAW ไฟล์ดิบ ปรับแต่งได้ยืดหยุ่น แต่อาศัยทั้งความรู้และความเข้าใจสูง

RAW เป็นไฟล์ดิบจากเซ็นเซอร์ภาพ โดยที่ไม่ผ่านการประมวลผลใด ๆ เลย ข้อมูลทุกอย่างยังอยู่ครบถ้วน อัดแน่นเต็มสูบ ถ่ายมายังไงข้อมูลก็มาอย่างนั้นทั้งดุ้น ดังนั้น ไฟล์ชนิดนี้จึงสามารถนำมาตกแต่งในภายหลังได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นสุดขีด เช่น การเปิดเงาหรือดึงแสงเพื่อให้มองเห็นรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่าง ควบคุมระดับคอนทราสต์และความอิ่มสีได้อย่างละเอียดยิบ ปรับแต่งความคมชัดบริเวณขอบของวัตถุได้อย่างแม่นยำ และอื่น ๆ อีกมากมาย ในชนิดที่ JPEG ทาบไม่ติด (แต่ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของอุปกรณ์ด้วยนะ)

อย่างไรก็ตาม ไฟล์ RAW มีข้อสังเกตคือ ไม่สามารถเรียกดูภาพด้วยโปรแกรมที่ไม่รองรับ และตัวไฟล์จะมีขนาดที่ใหญ่มาก และที่สำคัญที่สุดคือ การประมวลผลภาพด้วยซอฟต์แวร์ต่าง ๆ จากอุปกรณ์เองก็จะไม่ปรากฏบนไฟล์ RAW ทำให้อาจมีสีซีด ไม่สดใส ขาดความคมชัด และมีนอยส์เยอะ


ภาพจาก Wikepedia : เปรียบเทียบไฟล์ RAW (ซ้าย) และไฟล์ JPEG (ขวา)

นอกจากนี้ ไฟล์ RAW ยังไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ในทันที เพราะไฟล์ RAW ยังไม่ผ่านกระบวนการประมวลผลใด ๆ ตามที่กล่าวไว้ด้านบน โดยจะเห็นได้ว่า ข้อเสียหลัก ๆ ของไฟล์ RAW คือ ความวุ่นวายในขั้นตอนการปรับแต่งก่อนนำภาพไปใช้จริง ที่ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ ทักษะ และความประณีตเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว นำพาหลายคนไปเจอกับปัญหาที่ว่า “แต่งภาพจากไฟล์ RAW แต่ดันไม่สวยเท่าไฟล์ JPEG ซะอย่างงั้น” ไฟล์ชนิดนี้จึงไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานทั่วไปสักเท่าไหร่ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมไปโดยปริยาย

เปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น โดยลองจินตนาการเป็นอาหาร

หากเพื่อน ๆ รู้สึกว่า ที่อ่านมาด้านบนนั้นยากไป เพื่อให้นึกภาพตามได้ง่ายกว่าเดิม ให้ลองจินตนาการว่าไฟล์ RAW คือ วัตถุดิบและเครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร แน่นอนว่า เราสามารถปรุงอาหารจานนั้น ๆ ออกมาโดยควบคุมได้ทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุดอย่างการจัดเตรียมส่วนผสมและวัตถุดิบ ไปจนถึงการควบคุมระดับความสุกของเนื้อ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก็ต้องใช้พื้นที่ในการจัดวางของเยอะ เสียเวลาในการประกอบอาหารด้วยตนเอง และเสียเวลาในการตักตวงส่วนผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบอาหารจำเป็นต้องมีทั้งความรู้และฝีมือในเรื่องนี้ด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วล่ะก็…อาหารที่ปรุงออกมาอาจดูไม่จืดก็เป็นได้

ในทางตรงกันข้าม JPEG นั้นเปรียบเสมือนอาหารปรุงมาให้เสร็จแล้วโดยเชฟผู้ชำนาญ สะดวก สบาย อร่อย พร้อมทานได้ทันที แม้ว่า เรายังคงสามารถนำอาหารจานนี้มาปรุงต่อได้อยู่ก็จริง แต่ก็ทำได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น แถมอาจต้องเจอกับข้อจำกัดบางประการ ยกตัวอย่างเช่น หากเนื้อในจานนั้นถูกปรุงมาสุกมาก ๆ มันไม่มีทางไหนเลยที่จะทำให้เนื้อกลับมาดิบอย่างเดิมได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เทคนิคการรวมภาพ Image Fusion ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ เทคนิคการประมวลผลภาพที่นิยมกันบนสมาร์ทโฟนคือ เทคนิคการรวมภาพ (image fusion) มีหลักการทำงานคือ อุปกรณ์จะถ่ายภาพออกมาหลายช็อตต่อการกดชัตเตอร์ในแต่ละครั้ง จากนั้นจะประมวลผลรวมเป็นภาพเดียวให้โดยอัตโนมัติด้วยซอฟต์แวร์ โดยอาจมีการใช้ AI เข้ามาช่วยเสริม ซึ่งจะช่วยให้ภาพมีความสว่าง คมชัด สีสันสดใส ไดนามิกเรนจ์กว้าง และมีนอยส์น้อย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการถ่ายภาพในหลากหลายสภาวะขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น การประมวลผล HDR ในการถ่ายย้อนแสง หรือการประมวลผล Night Mode สำหรับการถ่ายในที่แสงน้อย เป็นต้น


การทำงานของ Deep Fusion ในเบื้องหลัง ก่อนจะประมวลผลออกมาเป็นไฟล์ภาพ JPEG

ทาง Apple เองก็เลือกใช้วิธีการลักษณะนี้มาตั้งแต่ iPhone 11 แล้ว จากการประยุกต์ใช้ Neural Engine และ Image Signal Processor คุณภาพสูงช่วยในการประมวลผล ซึ่ง Apple เรียกมันว่า Deep Fusion โดยความเจ๋งของมันอยู่ที่คอร์ Neural Engine ที่ทำงานในรูปแบบ machine learning ทำให้กล้องของ iPhone ฉลาดพอที่จะรู้ได้ว่า ในสภาวะแสงหรือในสถานการณ์นั้น ๆ ควรประมวลผลรูปภาพออกมายังไง โดยที่เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แค่กดชัตเตอร์ถ่ายเพียงอย่างเดียวก็ได้ภาพสวยพร้อมใช้งานแล้ว


ภายในชิป Apple A14 Bionic มีทั้ง Neural Engine และ Image Signal Processor

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยประสิทธิภาพของชิป A14 Bionic ที่มีความแรงเหลือเฟือ ทำให้ iPhone 12 Pro สามารถประมวลผล Deep Fusion แบบพิกเซลต่อพิกเซลได้แบบเรียลไทม์เลยทีเดียว

Apple ProRAW นำเอาข้อดีบางส่วนของ JPEG มารวมเข้ากับ RAW

ล่าสุด Apple ได้คิดค้นรูปแบบการประมวลผลภาพถ่ายแบบใหม่ขึ้นมา และตั้งชื่อให้มันว่า Apple ProRaw ซึ่งเป็นการนำเอาภาพ JPEG ที่ผ่านการประมวลผลมาแล้ว รวมเข้ากับไฟล์ RAW แบบดั้งเดิม


Apple ProRAW เปรียบเหมือนไฟล์ JPEG ที่ปรับแต่งได้ยืดหยุ่นตามแบบฉบับไฟล์ RAW

ส่งผลให้ Apple ProRAW เป็นไฟล์ภาพดิบที่ได้รับการปรับแต่งจาก Deep Fusion ที่ครอบคลุมทั้ง Smart HDR และ Night Mode โดยที่ยังคงความสามารถในการปรับแต่งภาพในเชิงลึกอย่างยืดหยุ่นและแม่นยำเอาไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงข้อมูลส่วนแผนที่ความลึก (depth map) ในการถ่ายพอร์เทรตก็สามารถดึงมาใช้งานในภายหลังได้อีกต่างหาก


ภาพตัวอย่างที่บันทึกในรูปแบบ Apple ProRAW


Apple แสดงให้ดูว่า ProRAW สามารถปรับแต่งได้ยืดหยุ่นและหลากหลาย โดยที่ไม่ลดทอนคุณภาพของไฟล์

ดังนั้น สำหรับ ProRAW อาจเปรียบได้กับการที่เรามีเชฟคอยตระเตรียมทั้งส่วนผสมและกำหนดวัตถุดิบทุกอย่างไว้ให้ในเบื้องต้น จึงทำให้เราสามารถข้ามขั้นตอนข้างต้นนี้ไป แล้วเข้าสู่กระบวนการปรุงอาหารได้ในทันที หากเรายังไม่พอใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เชฟจัดเตรียมเอาไว้ให้ ก็สามารถย้อนกลับไปจัดการตรงส่วนนั้นด้วยตนเองได้อยู่ มันจึงเป็นการง่ายมาก ๆ ที่เราจะปรุงอาหารจานนี้ออกมาได้ถูกปาก ด้วยเชฟสุดเก่งที่ Apple ส่งช่วยเรานั่นเอง

ได้ประโยชน์ทั้งผู้ใช้งานในระดับเริ่มต้นและระดับโปร

จะเห็นได้ว่า ประโยชน์ที่ผู้ใช้งานจะได้รับจาก Apple ProRAW นั้นมีหลายด้านเลย แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นเรื่องของการลดขั้นตอนในการปรับแต่งภาพลงไปได้อย่างมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนที่ยุ่งยากที่สุด ดังนั้น ผู้ใช้งานในระดับทั่วไปย่อมเข้าถึงการถ่ายภาพในรูปแบบไฟล์ RAW กันได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้งานที่มีความชำนาญอยู่แล้วก็จะได้รับประโยชน์ในด้านของระยะเวลาการตกแต่งภาพที่ลดลงเช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอย้ำอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า Apple ProRAW ไม่ได้ทำให้ภาพถ่ายของเราสวยงามขึ้นแต่อย่างใดนะครับ เป็นเพียงแค่ตัวช่วยในการปรับแต่งภาพจากไฟล์ RAW ให้มีความง่ายมากขึ้นเท่านั้น ในเบื้องต้น Apple จะเปิด ProRAW ให้ใช้งานเฉพาะ iPhone 12 Pro และ iPhone 12 Pro Max เท่านั้น ส่วน iPhone 12 mini และ iPhone 12 รุ่นธรรมดาก็ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่า Apple จะอัปเดตให้ใช้งานได้ในภายหลังหรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไปครับผม

 

อ้างอิง : Apple | iPhone 12 Pro | Wikipedia (JPEG, RAW, ISP)

26/10/2020 06:58 AM