ในช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดอย่างหนักแบบนี้ เราเริ่มเห็นเหล่าบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อช่วยกันสู้กับไวรัสตัวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคหน้ากากอนามัย, บริจาคเงิน, พัฒนาแอป ฯลฯ ซึ่งแบรนด์อย่าง Xiaomi ก็เคยบริจาคหน้ากากอนามัยให้ประเทศแถบยุโรปไปรอบนึงแล้ว และล่าสุด Xiaomi ยังได้จดสิทธิบัตรเตรียมพัฒนาหน้ากากอนามัยอัจฉริยะ เพื่อเตรียมไว้รับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ในปัจจุบัน Xiaomi มีหน้ากากอนามัยแบบล้ำๆ วางขายอยู่แล้ว คือซีรีส์ Mi AirPOP และตัวท็อปอย่าง Xiaomi Purely ซึ่งเป็นหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นระดับ PM2.5 ได้ แถมยังมีพัดลมระบายอากาศติดมา ทำให้สามารถหายใจได้สะดวกกว่าหน้ากากแบบทั่วไป ซึ่งก็ขายดีแบบเทน้ำเทท่า (รวมถึงในบ้านเราด้วยตั้งแต่ช่วงวิกฤติหมอกฝุ่น)
Xiaomi Purely Anti-Pollution Mask
และล่าสุด ทาง Xiaomi ก็ยังไม่หยุดยั้งการพัฒนาเอาไว้แค่นั้น เพราะล่าสุดได้จดสิทธิบัตรหน้ากากอนามัยอัจฉริยะเอาไว้อีก โดยมีความสามารถที่ล้ำจัดๆ ทั้งมีหน่วยประมวลผลในตัวเพื่อทำงานร่วมกับ เซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพอากาศแบบเรียลไทม์, หน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลต่างๆ, เชื่อมต่อกับมือถือได้, มีแบตเตอรี่ในตัว และแน่นอนว่าต้องมากับระบบกรองอากาศอย่างดีด้วย
ตามข้อมูลของสิทธิบัตรบอกว่าหน้ากากนี้มีเซ็นเซอร์ตรวจจับอากาศ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าตอนนี้มีสิ่งปนเปื้อนอยู่ในอากาศแค่ไหน และหน้ากากได้กรองสิ่งปนเปื้อนเหล่านั้นได้ปริมาณเท่าไหร่แล้ว ซึ่งตัวหน้ากากจะนำข้อมูลดังกล่าวไปเทียบกับฐานข้อมูลกลาง เพื่อบอกว่าสภาพอากาศในเมืองอยู่ที่ระดับไหน
ยังไม่หมด…หน้ากากอัจฉริยะตัวนี้ยังสามารถบอกข้อมูลสุขภาพของผู้สวมใส่ได้ด้วยการตรวจจับการหายใจในแต่ละครั้ง เพื่อคำนวณออกมาเป็นข้อมูลว่า ปอดของผู้สวมใส่หน้ากากดังกล่าวมีการหดตัวลงไป หรือมีการขยายขนาดขึ้นมาเท่าไหร่ จากนั้นก็จะส่งข้อความไปที่มือถือเพื่อเตือนว่าตอนนี้ปอดอาจจะไม่ปกติ พร้อมแนะนำการหายใจที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้งานอีกที (จะล้ำไปไหน…)
Mi AirPPO
แต่สุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่าหน้ากากอนามัยอัจฉริยะดังกล่าวจะออกมาหน้าตาแบบไหน และเมื่อพัฒนาเสร็จแล้วมันจะเป็นสินค้าที่มีวางจำหน่ายเฉพาะตลาดรึเปล่า หรือจะเอามาวางจำหน่ายทั่วไปให้คนทั่วไปซื้อมาใช้กันได้ด้วย แต่ถ้าให้เดาจากฟีเจอร์ล้ำๆ ขนาดนี้แล้ว…คิดว่าราคาของมันน่าจะสูงเกินไปสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแน่นอนครับ
ที่มา : Notebookcheck, 91Mobiles
27/03/2020 05:55 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย