สมัยนี้ Smart TV ทั้งหลาย เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายขึ้น แถมยังมีหลากหลายราคาตั้งแต่หลักไม่กี่พันบาทไปจนถึงเป็นล้านบาท ซึ่ง TV พวกนี้มีความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นกว่า TV ในยุคก่อน เพราะมันสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อดูคอนเทนต์จากแอปต่างๆ ได้ โดยบางคนอาจจะเรียก TV แบบนี้รวมๆ ไปว่ามันคือ Smart TV แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ Smart TV และ Android TV ที่แม้ว่าความสามารถโดยรวมของมันอาจจะดูคล้ายกัน แต่ถ้าให้เจาะลึกลงไปแล้ว TV ทั้งสองแบบนี้ ยังมีอะไรที่ต่างกันอยู่หลายอย่างเลย
บางคนอาจจะแยก Smart TV และ Android TV ไม่ออกว่ามันต่างกันยังไงบ้าง เพราะมันก็ต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อดูคอนเทนต์ผ่านแอป YouTube, Netflix, iflix หรือจะเล่นเน็ตผ่านเว็บเบราว์เซอร์ก็ได้เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว Android TV ก็นับเป็น Smart TV ประเภทนึงนั่นแหละ แต่มันยังมีรายละเอียดของฟีเจอร์หลายอย่างที่ไม่เหมือนกันระหว่าง Smart TV และ Android TV (ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงสเปคอย่างเช่นความคมชัด ระบบเสียง นะครับ เพราะมันเป็นคนละส่วนกัน)
Smart TV จะใช้ระบบปฏิบัติการ หรือ OS แยกตามแบรนด์ อย่างเช่น Samsung จะใช้ Tizen OS และ LG จะใช้ WebOS เป็นต้น ซึ่งระบบปฏิบัติการเหล่านี้จะมีแอปให้ดาวน์โหลดน้อยกว่า Android TV เนื่องจากต้องใช้แอปที่แบรนด์เป็นฝ่ายพัฒนาเอง แต่จะมีแอปยอดนิยมติดตั้งมาให้เลยอย่างเช่น YouTube, Netflix, Amazon Prime Video, iflix, Facebook ฯลฯ สำหรับแอปอื่นๆ ก็มีประมาณเกมแคชชวลเล่นง่ายๆ แก้เบื่อเท่านั้น ส่วนการเข้าเว็บไซต์จะเข้าผ่านเบราว์เซอร์ของตัว OS เอง ซึ่งความเสถียรหรือลูกเล่นต่างๆ จะไม่เหมือนกับการใช้งานผ่าน Google Chrome
สำหรับการใช้งานครั้งแรกก็ไม่มีอะไรซับซ้อนแค่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านสาย LAN หรือ WiFi ก็เริ่มต้นใช้งานได้เลย ไม่ต้องตั้งค่าอะไรให้ยุ่งยาก หรือถ้ามีให้ลงทะเบียนก็สามารถข้ามไปได้ เพราะการใช้งานหลายๆ อย่างบน Smart TV ไม่ค่อยจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนบัญชี (ยกเว้นแอปดูหนังที่ต้องเสียค่าบริการ)
Smart TV บางรุ่นสามารถสั่งการด้วยเสียงผ่านรีโมทคอนโทรล (ไม่ใช่ผู้ช่วยอัจฉริยะ Google Assistant แต่อาจเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่แบรนด์พัฒนาขึ้นเอง) สำหรับพิมพ์ชื่อคอนเทนต์ที่ต้องการในแอปต่างๆ ได้ นอกจากนี้ Smart TV มักจะมีฟีเจอร์แชร์การแสดงผลจากจอมือถือ หรือ PC ขึ้นหน้าจอ TV ได้ด้วย
แต่ข้อเสียของ Smart TV คือ การอัปเดต OS ที่นานๆ จะมาซักครั้งนึง รวมถึงการอัปเดตแอปต่างๆ ก็ไม่บ่อยเท่าแอปที่มีใน Android TV ซึ่งมักจะเกิดปัญหาเวลาแอปอย่าง YouTube หรือ Netflix สำหรับระบบ Android เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามาให้แล้ว แต่แอปใน Smart TV จะใช้เวลานานมากกว่าจะมาให้ได้ใช้กัน
ข้อเสียอีกอย่างของ Smart TV คือ บาง OS ไม่รองรับการใช้งานคีย์บอร์ดภาษาไทย ซึ่งเป็นปัญหาสุดๆ เวลาใช้งานแอป YouTube แล้วไม่สามารถพิมพ์หาคลิปที่เป็นภาษาไทยได้เลย แถมยังดาวน์โหลดมาติดตั้งเพิ่มเติมก็ไม่ได้ด้วย
Smart TV จะเหมาะกับคนที่ไม่ต้องการลูกเล่นอะไรมากมายจากตัว TV แค่ดูช่องรายการฟรีทีวีต่างๆ, ดูหนังจาก Netflix หรือดูคลิปวิดีโอจาก YouTube ได้แบบชัดแจ๋วก็พอ ไม่ค่อยสนใจว่าจะต้องมีแอปให้เล่นเยอะ หรือต้องรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์เสริม เน้นใช้งานง่ายเสียบสาย LAN หรือต่อ WiFi ก็ดูได้เลย
ต่อด้วย Android TV ที่ต้องบอกตรงๆ เลยว่ามีฟีเจอร์หลากหลายกว่า Smart TV ทั่วไปมาก เนื่องจากมันใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่สามารถเข้าถึง Google Play Store ให้ไปดาวน์โหลดแอปมาใช้ได้เพียบ ซึ่งแอปยอดนิยมทั้ง Netflix, YouTube, Facebook, Instagram ฯลฯ มีให้โหลดมาติดตั้งได้สบายๆ แถมยังได้รับการอัปเดตอยู่บ่อยๆ ด้วย ส่วนเกมหลายๆ เกมที่มีให้เล่นบนมือถือ Android ก็ดาวน์โหลดมาเล่นบน Android TV ได้เช่นกัน (แต่บางเกมก็ไม่รองรับนะครับ เพราะอาจจะใช้ได้กับอุปกรณ์ประเภทจอสัมผัสเท่านั้น) การเข้าเว็บไซต์เลือกได้ตามใจชอบว่าใช้ Chrome, Firefox, Microsoft Edge ฯลฯ ที่มีความเสถียรในการใช้งานมากกว่า และได้รับการอัปเดตบ่อยกว่าด้วย
Android TV หลายๆ รุ่นจะมากับรีโมทคอนโทรลที่มีไมโครโฟนในตัว ทำให้สามารถสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Google Assistant ได้เลย ไม่ว่าจะสั่งให้เปิดแอป สั่งให้เล่นหนังเรื่องนี้จากแอปนี้ สั่งเล่นเพลงนี้จากแอปนี้ ก็คือทำได้เหมือนกับการใช้มือถือ Android นั่นเอง แถมยังล้ำสุดๆ ด้วยฟีเจอร์สั่งเปิด-ปิดเครื่องจากมือถือ หรือ Google Home จากระยะไกลได้อีก
Android TV ส่วนมากจะรองรับการใช้งานเมาส์, คีย์บอร์ด และคอนโทรลเลอร์เกม ทั้งแบบ Wireless และมีสายเสียบเข้ากับพอร์ต USB หรือจะเชื่อมแบบ Bluetooth ก็ได้ (หาก TV รองรับ)
Android TV บางรุ่นมีฟีเจอร์ Chromecast ติดมาเลย ทำให้สามารถ Cast หนังจาก Netflix หรือคลิปจาก YouTube ขึ้นไปที่หน้าจอ TV ในขณะที่มือถือก็ยังสามารถใช้งานอย่างอื่นต่อไปได้ ไม่เหมือนกับการใช้ฟีเจอร์ Smart Share ใน Smart TV ที่จะแสดงหน้าจอของมือถือขึ้นจอ TV โดยตรง
หน้าตา UI ของ Android TV และการใช้งานครั้งแรกของ Android TV อาจยุ่งยากไปหน่อยสำหรับมือใหม่ หรือคนที่ไม่ค่อยสันทัดเรื่อง Smart Device เพราะต้องมีการลงทะเบียนและตั้งค่าพอสมควรกว่าจะใช้งานได้
Android TV จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่มีประสบการณ์ในการใช้ระบบ Android มาแล้ว และต้องการลูกเล่นครบๆ ทั้งดูหนัง, เล่นเกม, เล่นโซเชียล หรืออื่นๆ (เหมือนบนมือถือ) แถมยังมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า อย่างเช่นการเล่นไฟล์วิดีโอที่สามารถเลือกได้ว่าอยากเล่นผ่านแอปอะไร รวมถึงยังรองรับแอปใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
นอกจากนี้การใช้งานยังพลิกแพลงได้อีก หากใช้คู่กับอุปกรณ์เสริมอย่างเช่น เมาส์ คีย์บอร์ด พร้อมแอปเอกสาร (Google Doc, Microsoft Word ฯลฯ) Android TV ก็จะกลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องนึงได้เลย หรือจะต่อกับคอนโทรลเลอร์ให้กลายเป็นเครื่องเกมเลยก็ยังได้
ทีนี้ก็อยู่ที่ตัวผู้ใช้แล้วนะครับ ว่าอยากได้ฟีเจอร์ของ Smart TV หรือ Android TV กันแน่ เพราะ TV บางรุ่นที่มีสเปคของหน้าจอ, ระบบเสียง และอื่นๆ ที่ถูกใจเราแต่กลับไม่ใช่ระบบปฏิบัติการที่เราอยากได้ซะนี่
ข้อมูล : Android TV, Smart TV Wiki, IPTVInsider, BGR
21/08/2020 02:30 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย