ถือว่าดุเดือดกันมากหลังจากที่ Epic Game ได้ละเมิดกฎการขายสินค้าใน App Store ผ่านเกม Fortnite ที่นำไปสู่คดีความที่ดึงข้อครหาเรื่องกฎหมายการผูกขาดทางการค้า ของ Apple กลับขึ้นมามากมาย สำหรับใครที่ตามไม่ทันก็ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะวันนี้ Droidsans จะมาสรุปเรื่องราวข้อพิพาทระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่นี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมซึ่งเป็นวันดีของคนเล่น Fortnite หลาย ๆ คนเพราะ Epic Game ใจป้ำปล่อยโปรโมชั่นขายหน่วยเงิน V-Bucks ถึง 1,000 เหรียญในราคาเพียง 7.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีเงื่อนไขที่ว่าจะต้องเติมผ่านเว็บไซต์ของ Epic Game โดยตรงเท่านั้น ซึ่งการเติมปกติผ่าน App Store มีราคาอยู่ที่ 9.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในหน้าตัวเลือกการจ่ายเงินมีการระบุช่องทาง หน่วยเงินที่ได้ และราคาที่ชัดเจนว่าจ่ายกับ Epic Game แล้วถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว
แต่หลังจากนั้นไม่นาน App Store ก็ได้ทำการถอนแอปพลิเคชัน Fortnite ออกจากร้านค้าด้วยความรวดเร็วเนื่องจากการกระทำของ Epic Game ถูกกล่าวจาก Apple ว่า “เป็นการละเมิดข้อตกลงของ App Store ที่นักพัฒนาแอปพลิเคชันทุกคนพึงกระทำ เพื่อความปลอดภัยของแอปพลิเคชันบน App Store” ส่วน Play Store ก็ตามรอย Apple และทำแบบเดียวกัน
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง Epic Game ก็เริ่มเดินหน้าฟ้องร้องคดีความกับ Apple และ Google โดยมีใจความสำคัญหลัก ๆ อยู่ที่ว่า
นอกจากนั้นทวิตเตอร์ของ Fortnite ยังได้ลงคลิปสั้นกัด Apple อย่างเจ็บแสบด้วยการทำคลิปสั้น ๆ อิงหนังสือชื่อดังของ George Orwell เรื่อง 1984 ที่ตราหน้าให้ Apple เป็นเผด็จการที่ควบคุมเหล่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมเชิญชวนเหล่าผู้เล่นช่วยกันออกมาแสดงจุดด้วยกันกับ Epic Game ในครั้งนี้
มีสื่อหลาย ๆ สำนักที่สังเกตเห็นว่าการตอบสนองของ Epic Game ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงหลังจากการนำแอปพลิเคชันออกจากร้านค้า นั้นมันไวเกินไปจนน่าผิดสังเกต เพราะในเอกสารการฟ้องร้องของ Epic Game นั้นประกอบไปด้วยเอกสารเกี่ยวกับคดีความยาวถึง 62 หน้า 279,610 ตัวอักษร ซึ่งมีทั้งหมด 2 ฉบับแยกให้ Apple และ Play Store (ทั้ง 2 ฉบับมีใจความที่แตกต่างกันเล็กน้อย)
แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ Epic Game จะสามารถร่างเอกสารฟ้องร้องที่มีความละเอียดครอบคลุมขนาดนี้ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แถมนี่ยังไม่รวมกับคลิปสั้นเสียดสี Apple ที่สร้างกระแสให้ Epic Game อีกด้วย ทำให้ค่อนข้างฟันธงได้เลยว่าการกระทำของ Epic Game นั้น ไม่ใช่ข้อผิดพลาด แต่เป็นแผนการที่วางไว้อย่างรอบคอบ
โดยในเอกสารฟ้องร้องยังได้มีการกล่าวอีกว่า “Instead, Epic is seeking injunctive relief to allow fair competition in these two key markets that directly affect hundreds of millions of consumers and tens of thousands, if not more, of third-party app developers” ซึ่งแปลได้คร่าว ๆ ว่า “Epic game ต้องการที่จะลดอำนาจความผูกขาดของ 2 ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมแอปพลิเคชันมือถือ ที่กุมชะตากรรมของผู้พัฒนานับล้านเอาไว้ และสร้างตลาดแอปพลิเคชันที่แฟร์ และมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน”
อ้างอิงจาก Developer Guideline ของ Apple ที่มีการระบุกฎระเบียบการเก็บค่าคอมมิชชั่นไว้อย่างชัดเจนแล้วดังนี้
ประเภทแอป | การทำงาน | จำนวนคอมมิชชั่น | ตัวอย่าง |
ฟรี | ไม่มีค่าใช้จ่าย | ไม่มี | แอปฟรีทั่วไป |
ฟรี | มีการโฆษณา | ไม่มี | แอป Social Media ที่มีการโฆษณา |
ฟรี | มีการขายสินค้าในชีวิตจริง | ไม่มี | Uber, Grab, Agoda |
ฟรี | มีการขายสินค้าในแอปพลิเคชัน เช่นฟีเจอร์เสริม หรือค่าเงินในเกม | 30% ของทุกการจ่ายเงิน | Fortnite, Candy Crush, ROV, Freefire |
เสียเงิน | จ่ายเงินซื้อแอปพลิเคชันโดยตรง | 30% ของราคาแอปต่อทุกการดาวน์โหลด | แอปจ่ายเงินทั้งหลาย |
ฟรี | มีการสมัครเป็นระเวลารายเดือน | 30% ของค่าสมัครต่อเดือน และลดลงเป็น 15% เมื่อผู้สมัครนั้น ๆ สมัครเกิน 1 ปี | Tinder, หรือแอปที่มีการสมัครผ่าน App Store โดยตรง |
ฟรี | มีการจ่ายเงินสมัครเพื่อรับชมคอนเทนต์ที่ไม่เกี่ยวกับแอปโดยตรง | ไม่มี | Spotify, Netflix, Amazon Kindle, Audible |
ฟรี | เป็นแอปพลิเคชันข้ามแพลตฟอร์มที่สามารถย้ายไปใช้กับอุปกรณ์อื่นได้ | ไม่มี | Dropbox, Hulu, Microsoft Office |
จากที่เห็นได้ข้างต้นว่าแอป Fortnite นั้นตกอยู่ในแอปประเภทแอปฟรีที่มีการขายสินค้า บริการ และค่าเงินในแอปพลิเคชันทำให้จะต้องเสียคอมมิชชั่น 30% สำหรับทุกการซื้อขายผ่าน App Store ซึ่งในกฎข้อบังคับของ Apple Guideline ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในข้อ 3.1.1 ในหัวข้อ IAP ไว้แล้ว
3.1.1 In-App Purchase
หากผู้บริการต้องการ ใส่ฟังก์ชันเสริมที่ต้องปลดล็อค ผ่านการจ่ายเงิน (การสมัคร, ค่าเงินภายในเกม, ปลดล็อคด่านในเกม, คอนเทนต์พรีเมียม, หรือปลดล็อคเวอร์ชันเต็มของแอป) ผู้พัฒนาจะต้องใช้การจ่ายเงินผ่านระบบ In-app purchase เท่านั้น ผู้พัฒนาห้ามใช้ช่องทางอื่นในการปลดล็อคฟีเจอร์ในแอปที่ไม่ใช่ของ App Store เด็ดขาด ซึ่งถ้าอ่านตามกฎระเบียบที่ Apple วางเอาไว้แล้วก็ค่อนข้างชัดเจนเลยว่า Epic Game ทำผิดกฎ App Store อย่างจัง ๆ ไม่มีข้อครหาเลย แต่จากข้อมูลเราจะเห็นได้ว่า Epic Game ตั้งใจแหกกฎของ Apple ตรง ๆ เพื่อล่อให้ App Store ดึง Fortnite ออกจากร้านค้าตามด้วยการฟ้องร้องคดีความ ที่จะดึงเรื่องค่าคอมมิชชั่น 30% ขึ้นมาเป็นที่ถกเถียงกันนั่นเอง
แต่ถ้าทุกคนลองคิดดี ๆ หลาย ๆ คนก็มองข้ามสิ่งที่ Apple คอยทำมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำ Platform ขึ้นมานั่นคือการบริหารจัดการ eco-system ระดับแถวหน้าในการจัดจำหน่ายแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะฟรี หรือจ่ายเงิน ซึ่งแอปฟรีใน Apple Store นั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 91.9 เปอร์เซ็นต์ของแอปพลิเคชั่นทั้งหมดในร้านค้า ซึ่งในแอปทั้งหมดนี้ Apple ก็ไม่ได้กำไรจากผู้พัฒนา แต่ก็ยังต้องคอยช่วยเหลือดูแล Server และคอยให้ Source Code กับผู้พัฒนาในการดูแลแอปพลิเคชัน ซึ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ทำให้ตอนนี้ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าสัดส่วนคอมมิชชั่นที่เหมาะสมนั้นคือเท่าไหร่ครับ
Epic game นอกจากจะเป็นเจ้าของ Fortnite แล้ว ก็ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Game Engine อันเป็นที่ยอดนิยมอย่างแพร่หลายอย่าง Unreal Engine ซึ่งหลังจากที่ Apple ได้ดึงเอา Fortnite ออกจาก App Store โดยตรงแล้ว Apple ยังได้เดินหน้าเตรียมดึงเกมอื่น ๆ ที่มีการใช้ Unreal Engine ออกจาก App Store อีกด้วย ทำให้เกมดัง ๆ ที่มึคนเล่นมากมายนั้นโดนลูกหลงไปด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า Apple เอาจริงกับ Epic Game มาก ๆ
หลาย ๆ คนคงสัยกันว่าทำไมแอปอย่าง ROV จะสามารถขายเงินในเกมผ่านทางช่องทางอื่นที่ไม่ใช้ระบบ IAP ของ แอปได้ นั่นเป็นเพราะว่า ROV ไม่ได้มีการประกาศโฆษณาในตัวแอปโดยตรงเรื่องช่องทางในการจ่ายเงินในช่องทางอื่น เพราะในข้อที่ 3.1.3 (b) ของ App Store Guideline ได้ว่าไว้คร่าว ๆ ว่าตัวแอปจะต้องไม่ชี้นำให้ผู้ใช้งานไปใช้วิธีการเติมเงินแบบอื่นที่ไม่ใช่การจ่ายเงินผ่าน IAP ของ App Store ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่สิ่งที่ Epic Game ทำนั้นคือการตั้ง 2 ราคาให้ผู้ใช้งานได้เห็นกันชัด ๆ เลยซึ่งเป็นการชี้นำให้ผู้ใช้งานเลือกเติมกับ Epic Game เพราะราคาที่ถูกกว่านั่นเอง
ส่วน Spotify ก็ไม่ได้มีการบอกถึงวิธีการสมัครหรือจ่ายตังโดยตรงในแอปเลย จะมีก็แต่การให้ข้อมูลในเว็บไซต์หลักของ Spotify เลยนับว่าไม่ได้ละเมิดกฎข้อบังคับของ Apple นั่นเองครับ
Tim Cook ได้เคยประกาศในการแถลงคดีความ Antitrust ว่า “Apple ได้ใช้กฎนี้กับผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” แต่ล่าสุดได้มีรูปเอกสารชุดหนึ่งที่ได้หลุดออกมาในทวิตเตอร์ของนักข่าว Bloomberg ทำให้เราเห็นว่า Apple ได้มีการทำข้อตกลงที่จะคิดค่าคอมมิชชันเพียง 15% กับ Amazon อย่างลับ ๆ ในปี 2016 ซึ่งเป็นเอกสารลับที่ไม่ควรเผยแพร่ออกมา ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามถึงการกระทำที่น่าสงสัยของ Apple ในครั้งนี้ ว่ามีความเท่าเทียมกันจริงแค่ไหน แต่อย่างไรก็ดีเอกสารที่นำเอามาเปิดเผยนี้อาจเป็นเพียงบางส่วนของข้อตกลงเท่านั้น ด้วยความที่ Amazon เป็นองค์กรที่ใหญ่ ดีลนี้จึงอาจจะมีข้อแลกเปลี่ยนอื่นที่ทำเพิ่มเติมด้วย เรื่องนี้คงต้องรอข้อสรุปเพิ่มเติม เมื่อมีเอกสารข้อตกลงอย่างละเอียดระหว่าง Apple และ Amazon เอามาเปิดเผยต่อหน้าศาลกันต่อไป
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการสรุปเรื่องราวทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ผู้อ่านทุกคนคิดว่าอย่างไรบ้าง? Epic Game สมควรโดนแบนไหม? แล้วการที่ Apple เก็บค่าคอมมิชชั่น 30% แบบนี้มันแฟร์รึเปล่า? สามารถคอมเมนต์แชร์ความคิดเห็นกันได้เลยครับ
References: 1. CNBC Apple sued by Fortnite maker after kicking the game out of App Store for payment policy violations
2. เอกสารฟ้องร้องของ Google
3. เอกสารฟ้องร้องของ Apple
4. กฎข้อบังคับผู้พัฒนาของ Apple
5. TheVerge : Documents show Apple gave Amazon special treatment to get Prime Video into App Store
21/08/2020 09:08 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย