เจาะลึก Xperia 1 III สรุปจุดเด่นและไฮไลต์ ฟีเจอร์โคตรแน่นทั้งภาพ เสียง และกล้อง - Android

Get it on Google Play

เจาะลึก Xperia 1 III สรุปจุดเด่นและไฮไลต์ ฟีเจอร์โคตรแน่นทั้งภาพ เสียง และกล้อง - Android

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Sony ประจำเดือนเมษายน ปี 2564 ซึ่งพระเอกในรอบนี้ก็คือ Xperia 1 III และ Xperia 5 III คู่หูสมาร์ทโฟนเรือธงที่ยัดฟีเจอร์เด็ด ๆ มาให้แบบแน่นปึ้ก จัดเต็มทั้งภาพและเสียง มีรายละเอียดที่น่าสนใจเยอะมาก จนผมอยากหยิบเอามาเล่าเพิ่มเติมให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ ก่อนที่จะเข้าเรื่องกัน ขอชี้แจงนิดหนึ่งว่า ผมจะกล่าวถึง Xperia 1 III เป็นหลักนะครับ แต่ทั้งนี้ก็อาจเหมารวมถึง Xperia […]

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Sony ประจำเดือนเมษายน ปี 2564 ซึ่งพระเอกในรอบนี้ก็คือ Xperia 1 III และ Xperia 5 III คู่หูสมาร์ทโฟนเรือธงที่ยัดฟีเจอร์เด็ด ๆ มาให้แบบแน่นปึ้ก จัดเต็มทั้งภาพและเสียง มีรายละเอียดที่น่าสนใจเยอะมาก จนผมอยากหยิบเอามาเล่าเพิ่มเติมให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ

ก่อนที่จะเข้าเรื่องกัน ขอชี้แจงนิดหนึ่งว่า ผมจะกล่าวถึง Xperia 1 III เป็นหลักนะครับ แต่ทั้งนี้ก็อาจเหมารวมถึง Xperia 5 III ด้วยแทบทั้งหมด เพราะสมาร์ทโฟนทั้ง 2 รุ่นนี้เหมือนกันไปซะกว่า 90% เลยนั่นเอง

หน้าจอแสดงผล

อัตรารีเฟรช 120Hz บนความละเอียด 4K

Xperia 1 III มาพร้อมกับหน้าจอ OLED ความละเอียด 4K ซึ่งสิ่งที่ทำให้มีความพิเศษและความน่าสงสัยในเวลาเดียวกัน คือ อัตรารีเฟรช 120Hz ที่ไม่รู้ว่า Sony ไปทำอีท่าไหนถึงจับยัดเข้ามาได้ เพราะ Qualcomm นั้นระบุรายละเอียดความเข้ากันได้ของฮาร์ดแวร์ของ Snapdragon 888 ว่า เท่านั้นหากใช้งานร่วมกับจอภาพระดับ 4K จะรองรับอัตรารีเฟรชสูงสุดแค่ 60Hz เท่านั้น ทั้งนี้บริษัทฯ ก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเอาไว้ด้วยเนี่ยสิ… หรืออาจล็อกไว้ให้ใช้งานได้บนความละเอียด Full HD+ อย่างเดียว อันนี้เราคงต้องมารอดูกันอีกที

นอกจากนี้ Xperia 1 III ยังมีฟีเจอร์เร่งอัตรารีเฟรชด้วยซอฟต์แวร์ให้เพิ่มขึ้นเทียบเท่า 240Hz ได้อีกด้วยนะ ใช้เทคนิคแทรกภาพสีดำเข้ามาระหว่างเฟรม เป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ในโทรทัศน์หลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน อัตราตอบสนองการสัมผัสเองก็อยู่ในระดับ 240Hz เช่นเดียวกัน ค่อนข้างเห็นผลกับเกมประเภทจับจังหวะต่าง ๆ

  • พาเนล OLED ความละเอียด 4K
  • สัดส่วนภาพ 21:9
  • อัตรารีเฟรช 120Hz จำลองเป็น 240Hz ได้ด้วยซอฟต์แวร์
  • อัตราตอบสนองการสัมผัส 240Hz

สีสันและความเที่ยงตรงเทียบเท่าจอภาพเกรดโปรฯ

ยังอยู่ในหัวข้อจอภาพ แต่คราวนี้มาดูเรื่องสีสันกันบ้าง หน้าจอของ Xperia 1 III มีความลึกสี 10-bit แสดงผลได้ 1.07 พันล้านสี รองรับ HDR ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของสมาร์ทโฟนระดับบน ๆ ไปแล้ว (และอันที่จริง Sony ก็ใส่มาให้ตั้งแต่ Xperia 1 แล้วล่ะครับ) ขอบเขตสีครอบคลุม 100% ของ DCI-P3 เทียบเท่าจอภาพเกรดโปรฯ ที่ใช้งานกันในอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนต์ และได้มีการปรับเทียบสีมาให้จากโรงงาน เพื่อให้ได้ความถูกต้องสมจริงมากที่สุด ส่วนคอนทราสต์เรโชมีค่าอยู่ที่ 1,000,000:1 ตามมาตรฐานของพาเนล OLED เลยครับ

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนว่า 10-bit ของ Xperia 1 III เนี่ย ไม่ใช่ของแท้นะครับ หากแต่เป็น 8-bit + 2-bit ซึ่ง Sony ไม่ได้ให้รายละเอียดเอาไว้ (อีกแล้ว) แต่ผมเดาว่า หลักการทำงานคงไม่ต่างจาก 8-bit + FRC (frame rate control) อธิบายง่าย ๆ คือ ให้ซับพิกเซลแต่ละจุดแสดงผลสีที่แตกต่างกัน แล้วกะพริบรัว ๆ เพื่อจำลองสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคู่สีข้างต้นดังกล่าว

หากสรุปแบบสั้น ๆ คุณภาพมันยังไม่เทียบเท่า 10-bit แท้ แต่สาวกอารยธรรมก็ไม่ต้องน้อยใจนะครับ เรื่องความลึกสีเป็นแค่หนึ่งในปัจจัยหนึ่งจากอีกหลายอย่างที่จะส่งผลให้จอภาพแสดงผลได้ดี (เอาไว้มีโอกาสผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในภายหลังนะ)

  • ความลึกสี 10-bit (8-bit +2- bit smoothing)
  • การแสดงผล 1.07 พันล้านสี
  • ขอบเขตสีครอบคลุม 100% ของสเปกตรัม DCI-P3
  • คอนทราสต์เรโช 1,000,000:1
  • รองรับ HDR

ไร้ติ่ง ไร้รู ไร้สิ่งรบกวนสายตา

ในขณะที่จอภาพพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สีสัน ความเที่ยงตรง ความสว่าง ทุกอย่างดูสุดยอดไปหมด แต่กล้องหน้าเจ้ากรรมดันหาวิธีเอาไปซ่อน (โดยที่ยังทำงานเต็มประสิทธิภาพ) อย่างสมบูรณ์ไม่ได้เสียที อุตส่าห์มีหน้าจอเจ๋ง ๆ สวย ๆ แต่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลาย ๆ กลับเลือกที่จะเจาะรูหรือทำรอยบากเสียอย่างนั้น รบกวนสายตา เสียดายของสุด ๆ

แม้ว่า มีแฟน ๆ จำนวนไม่น้อยที่บ่นเชิงติดตลกในทำนองที่ว่า Sony ไม่ยอมจ้างทีมออกแบบ เพราะใช้ดีไซน์เดิมมาหลายปีแล้ว แต่ส่วนตัวคงต้องกล่าวขอบคุณ เพราะด้วยแนวทางเดิม ๆ แบบนี้แหละครับ ไม่มีติ่ง ไม่มีรู ไม่มีอะไรมากวนใจทั้งสิ้น แลกมากับขอบด้านบนและล่างที่หนาขึ้นมาแค่นิดเดียวเอง หากเทียบกันแล้ว ประสบการณ์การใช้งานจริงนั้นประทับใจกว่าเยอะ อีกอย่างผมว่า ของเดิมก็สวยอยู่แล้วด้วยนะ ดูสมมาตรดีด้วย q(≧▽≦q)

กล้องและการถ่ายภาพ

เลนส์เทเลโฟโต้ 2 ระยะ 70 มม. และ 105 มม.

ชุดกล้องหลังทั้ง 3 ตัว ใช้เซนเซอร์ Exmor RS ความละเอียด 12MP เท่ากันทั้งหมด ประกอบด้วย กล้องหลัก กล้องอัลตร้าไวด์ และกล้องเทเลโฟโต้ ฝ่ายหลังสุดค่อนข้างพิเศษ คือ เป็นกล้องปริทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัส 70 มม. กับ 105 มม. นั่นทำให้เหมือนกับว่า Xperia 1 III มีเลนส์เทเลโฟโต้ 2 ตัว อะไรทำนองนั้น

  • กล้องหลัก 12MP
    – ความยาวโฟกัส 24 มม.
    – รูรับแสง ƒ/1.7
    – ขนาดเซนเซอร์ 1/1.7 นิ้ว
    – ระบบโฟกัส Dual PD
    – ระบบกันสั่น OIS
  • กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP
    – ความยาวโฟกัส 16 มม.
    – รูรับแสง ƒ/2.2
    – ระบบโฟกัส Dual PD
    – ขนาดเซนเซอร์ 1/2.6 นิ้ว
  • กล้องเทเลโฟโต้ 12MP
    – ความยาวโฟกัส 70 มม., 105 มม.
    – รูรับแสง ƒ/2.3, ƒ/2.8
    – ขนาดเซนเซอร์ 1/2.9 นิ้ว
    – ระบบโฟกัส Dual PD
    – ระบบกันสั่น OIS
  • เลนส์ ZEISS T*

Sony กล่าวว่า ได้นำฟีดแบ็กจากช่างภาพมืออาชีพมาปรับใช้ในการพัฒนาระบบกล้องและการถ่ายภาพของ Xperia 1 III แตกต่างจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่น ๆ ที่มักจะเน้นหนักไปทางประมวลผลภาพ แต่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้กลับเลือกชูจุดเด่นด้านความสามารถเชิงเทคนิคต่าง ๆ ของฮาร์ดแวร์แทน

ระบบโฟกัสติดตามดวงตา Eye AF

ฟีเจอร์นี้ Sony หยิบยกมาจากล้องในตระกูล α ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของสมาร์ทโฟน Xperia ใช้งานได้กับทั้งดวงตาคนและสัตว์ (จำพวกหมากับแมว) เรื่องความแม่นยำและความรวดเร็วนั้นหายห่วงกันได้ เจ๋งสุด ๆ อะขอบอก ขนาดหลับตาข้างหนึ่ง หรือหันหน้าเอียง ๆ ยังไม่มีพลาด

ระบบโฟกัสติดตามวัตถุ Real-time Tracking

หากกล่าวถึง 3D iToF คนส่วนใหญ่คงคิดว่า สิ่งนี้ทำได้แค่ตรวจจับความลึกเท่านั้น แต่ Sony ได้นำเซนเซอร์ดังกล่าวมาผสานการทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ ประยุกต์ใช้เป็น Real-time Tracking สำหรับติดตามวัตถุ ซึ่งทางบริษัทฯ เคลมว่า เกาะติดเป้าหมายได้อย่างแน่นหนึบ ต่อให้หลุดเฟรมไปชั่วคราวระบบโฟกัสก็ยังทำงานต่อได้อย่างไม่มีปัญหา

ส่วน Xperia 5 III ที่ไม่มี 3D iToF ก็ไม่ต้องกังวลไป สามารถใช้งานฟีเจอร์ลักษณะเดียวกันนี้ได้เหมือนกับ Xperia 1 III เลย แต่ประสิทธิภาพจะเท่ากันรึเปล่านั้น คงต้องรอดูในการใช้งานจริงอีกทีนะ

กล้องทุกตัวมี Dual PD โฟกัสไวปานสายฟ้าแลบ

กล้องทุกตัวของ Xperia 1 III ใช้เซนเซอร์ Exmor RS มีคุณสมบัติร่วมที่เหมือนกัน คือ Dual Photo Diode (Dual PD) มีจุดโฟกัส 247 จุด ครอบคลุม 70% ของพื้นที่เซนเซอร์ มีจำนวนเยอะและกว้างมาก ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงใส่ฟีเจอร์โหด ๆ อย่าง Eye AF กับ Real-time Tracking มาได้

คำนวณ AF/AE ได้ 60 ครั้งต่อวินาที

หากย้อนกลับไปสมัยก่อน เวลาเรากดชัตเตอร์แช่เอาไว้เพื่อถ่ายภาพรัว ๆ มันจะคำนวณโฟกัสและความสว่างเอาไว้เพียงแค่ช็อตแรกเท่านั้น ภาพช็อตต่อ ๆ ไปที่เหลือจึงอาจขาดคุณภาพ แต่ด้วยชิปประมวลผลที่ทรงพลัง ทำให้ Xperia 1 III สามารถคำนวณโฟกัสและความสว่างได้ 60 ครั้งต่อวินาที หมายความว่า หากถ่ายเบิสต์ช็อตที่ 20 เฟรมต่อวินาที ในแต่ละเฟรมจะมีการคำนวณ 2 สิ่งข้างต้นอยู่ที่ 3 ครั้งต่อเฟรม ภาพทั้งชุดจึงมีความสม่ำเสมอตั้งแต่ใบแรกยันใบสุดท้าย

ยิ่งไปกว่านั้น Sony ยังได้ไปทำการบ้าน ปรับปรุงอัลกอริทึม BIONZ X มาใหม่ ให้การถ่ายในโหมดเบิสต์ช็อตมีนอยส์น้อยกว่าเดิม ถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น เป็นการแก้จุดอ่อนจากรุ่นก่อนอย่างตรงจุด

แอปกล้องพื้นฐานโฉมใหม่ หน้าตาดูดีขึ้น

ใน Xperia รุ่นท็อปจะมีแอปกล้องมาให้ 3 ตัว คือ Camera แอปกล้องพื้นฐาน, Photo Pro แอปกล้องระดับแอดวานซ์ และ Cinema Pro สำหรับถ่ายวิดีโอ ปัญหาก่อนหน้านี้ คือ Camera กับ Photo Pro ดันมีอินเทอร์เฟซที่ออกแบบไปคนละทิศละทาง สร้างความปวดหัวให้แก่ผู้ใช้งาน ดูแล้วรู้ได้ทันทีเลยว่า พัฒนาและ/หรือออกแบบโดยคนละทีม

Sony น่าจะทราบถึงฟีดแบ็กนี้แล้ว เลยทำการปรับโฉม Camera มาใหม่ ให้มีอินเทอร์เฟซสัมพันธ์กับ Photo Pro มากขึ้น เมนูต่าง ๆ ถูกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน เพื่อให้ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ต่อเนื่องและเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น สลับใช้งานระหว่างแอปทั้ง 2 ตัวได้สะดวกกว่าเดิม

การถ่ายวิดีโอ

บันทึกวิดีโอ 4K แบบ HDR ที่ 120 เฟรมต่อวินาที

Xperia 1 III สามารถถ่ายวิดีโอสโลวโมชั่นแบบ HDR ได้ที่ 120 เฟรมต่อวินาที บนความละเอียด 4K มีระบบกันสั่น 5 แกน จากการทำงานร่วมกันระหว่าง OIS กับ EIS เสริมด้วยฟิลเตอร์ตัดเสียงลมในตัว พิมพ์มาถึงตรงนี้เริ่มรู้สึกว่า โอ๊ย ! ฟีเจอร์เยอะอะไรขนาดนั้นอะ แต่ยังเหลือให้โม้ได้อีกบานเลย (ฮา)

Cinema Pro พัฒนาโดย CineAlta

ฝั่งภาพนิ่งมีกล้อง α เป็นแรงบันดาลใจ ฝั่งภาพวิดีโอไม่ยอมน้อยหน้า มีกล้อง CineAlta เป็นแรงบันดาลใจเหมือนกัน ซึ่งแอป Cinema Pro จะมีพารามิเตอร์กับเซตติ้งต่าง ๆ ให้ปรับตั้งค่ากันได้ คล้ายกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ของจริงเลย เราสามารถกำหนดได้ทั้งโปรไฟล์สี สัดส่วนภาพ อัตราเฟรม โฟกัส รวมถึงตัวแปรอื่น ๆ โดยที่ Sony พยายามออกแบบอินเทอร์เฟซออกมาให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานมากที่สุด

ระบบเสียงและการฟังเพลง

ลำโพงสเตอรีโอ รองรับ 360 Reality Audio ในตัว

ผมเคยบ่นเอาไว้ในการรีวิว Xperia 5 II ว่า ลำโพงมันสั่นมากจนน่ารำคาญ เหมือน Sony จะแอบอ่าน DroidSans (ล้อเล่น) แล้วกลับไปออกแบบโครงสร้างกล่องลำโพงมาใหม่ ทำให้ความดันของเสียงสูงขึ้นและความสั่นสะเทือนน้อยลง เป็นอีกเรื่องที่ค่อนข้างว้าวนะ เก็บทุกรายละเอียดไม่มีการตีเนียนแล้วปล่อยผ่านไปเฉย ๆ

Sony ระบุอย่างชัดเจนว่า ลำโพงสเตอรีโอของ Xperia 1 III ทรงพลังกว่ารุ่นก่อนถึง 40% อีกทั้งยังรองรับ 360 Reality Audio ฟอร์แมตเสียงสามมิติสุดล้ำในตัว จากที่เมื่อก่อนต้องใช้งานร่วมกับหูฟังที่รองรับเท่านั้น น่าสนใจไม่เบาทีเดียว

ใส่มาครบทั้ง 360 Spatial Sound, DSEE Ultimate และแจ็ก 3.5 มม.

360 Spatial Sound เป็นฟีเจอร์จำลองสัญญาณเสียง 2 ช่อง ให้มีทิศทาง 360 องศา เพิ่มประสบการณ์แปลกใหม่ในการฟังเพลง(ชื่อคล้ายกับ 360 Reality Audio แต่เป็นคนละอย่างกันนะ) ใช้ได้กับทั้งไฟล์เพลงในเครื่องและการฟังเพลงผ่านบริการตรีมมิ่ง

ในขณะที่ DSEE Ultimate นั้นเป็นฟีเจอร์ปรับปรุงคุณภาพเสียงระดับ MP3 ทั่วไป เพิ่มความถี่เสียงและขยายไดนามิกทั้งย่านสูงกับย่านต่ำให้ใกล้เคียงกับ Hi-Res โดยอาศัยพลังของปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย หากเลือกเปิดการใช้งานเอาไว้จะทำงานเองโดยอัตโนมัติแบบเรียลไทม์

แบตเตอรี่และการชาร์จ

แบตไม่เสื่อม แม้จะผ่านไป 3 ปี

เทคโนโลยีการชาร์จแบตของ Xperia 1 III แบ่งการชาร์จออกเป็น 2 เฟส เมื่อถึงระดับ 80% หรือ 90% (แล้วแต่เรากำหนด) ระบบจะตัดการชาร์จโดยอัตโนมัติ จากนั้นจะชาร์จต่ออีกครั้งจนเต็มภายในเวลาที่เหมาะสม วิธีนี้นอกจากจะช่วยถนอมสุขภาพแบตเตอรี่ได้อย่างมากแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโอเวอร์ฮีตอีกต่างหาก เดิมที Sony เคลมตัวเลขเอาไว้ที่ 2 ปี แต่ตอนนี้ขยายขึ้นเป็น 3 ปีแล้ว (อาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในเบื้องหลัง)

ชาร์จไปด้วย เล่นไปด้วย เครื่องไม่ร้อน

แม้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจะพยายามแนะนำว่า ไม่ควรใช้งานมือถือขณะกำลังชาร์จแบต เพราะแบตเตอรี่จะทำงานหนัก ก่อให้เกิดความร้อนอย่างมาก และจะเสื่อมสภาพไวสุด ๆ แต่เชื่อเหลือเกินว่า หลายคนก็ไม่ได้ทำตามอยู่ดี (ฮา)

Sony จึงแก้ปัญหาโดยการใส่ฟีเจอร์ Heat Suppression power control (H.S. power control) มาให้ เมื่อเราเปิดใช้งานโหมดนี้แล้วเสียบสายชาร์จอยู่ ระบบจะไปดึงพลังงานจากแหล่งจ่ายไฟมาใช้โดยตรง เครื่องไม่ร้อน เล่นเกมเฟรมเรตไม่ตก แบตไม่เสื่อม แฮปปี้สุด ๆ

จริง ๆ แล้วยังมีรายละเอียดย่อย ๆ ให้พูดถึงกันอีกเยอะ แต่หลาย ๆ อย่างเพื่อน ๆ น่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว ผมเลยไม่ได้หยิบมากล่าวถึงทั้งหมด ไม่อย่างนั้นคงยาวเป็นวิทยานิพนธ์แหง ๆ ( ̄_ ̄|||) หากมีข้อสงสัยหรือคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมก็สามารถคอมเมนต์กันเข้ามาได้นะครับ

15/04/2021 01:55 PM