ยกเลิกนโยบายสงครามการค้า… ผลกระทบต่อ Tech Giants เมื่อไบเดนชนะเลือกตั้งสหรัฐ ฯ - Android

Get it on Google Play

ยกเลิกนโยบายสงครามการค้า… ผลกระทบต่อ Tech Giants เมื่อไบเดนชนะเลือกตั้งสหรัฐ ฯ - Android

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ ในฐานะมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีของโลกนั้น ย่อมส่งผลกระทบทางตรงต่อทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา Tech Giant สัญชาติอเมริกัน – จีน ที่เราเห็นได้ตามหน้าข่าวมาโดยตลอด ซึ่งการที่ Joe Biden ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทน Donald Trump หลังจากผ่านไปแค่เทอมเดียว (4 ปี) นั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างฉับพลันต่อธุรกิจของ Tech Giants ทั้งทางบวกและลบอย่างแน่นอน นับตั้งแต่ Trump เข้าสู่ออฟฟิศที่ทำเนียบขาวเมื่อต้นปี 2016 รัฐบาลภายใต้การนำของเขาก็ทยอยออกนโยบายภายใต้แคมเปญจ์หลัก […]

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ ในฐานะมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีของโลกนั้น ย่อมส่งผลกระทบทางตรงต่อทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา Tech Giant สัญชาติอเมริกัน – จีน ที่เราเห็นได้ตามหน้าข่าวมาโดยตลอด ซึ่งการที่ Joe Biden ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทน Donald Trump หลังจากผ่านไปแค่เทอมเดียว (4 ปี) นั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างฉับพลันต่อธุรกิจของ Tech Giants ทั้งทางบวกและลบอย่างแน่นอน

นับตั้งแต่ Trump เข้าสู่ออฟฟิศที่ทำเนียบขาวเมื่อต้นปี 2016 รัฐบาลภายใต้การนำของเขาก็ทยอยออกนโยบายภายใต้แคมเปญจ์หลัก “Make America Great Again” ซึ่งเป็นการประกาศนำพาสหรัฐ ฯ กลับไปสู่จุดสูงสุดในฐานะมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่งหลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีทีท่าอ่อนโอนให้กับคู่ค้าและนานาประเทศจนได้รับคำวิจารณ์จากชาวอเมริกันสายอนุรักษ์นิยมที่ต่างมองตรงกันว่าสหรัฐ ฯ สูญเสียอำนาจต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศไปมาก

Trump เป็นผู้นำที่ตอบโจทย์และนโยบายของเขาก็สนองเรื่องนี้เป็นอย่างดีจากการประกาศนโยบายแรกสุดต่อนานาประเทศ นั่นคือ Trade War หรือสงครามทางการค้าที่มีคู่กรณีทางตรงอย่างรัฐบาลจีนและธุรกิจยักษ์ใหญ่สายเทคของพวกเขามี Huawei Technologies เป็นเสมือนแนวหน้ารับแรงกระแทกก่อนใครเพื่อนมาโดยตลอด ซึ่งหลาย ๆ ก็ส่งผลดีต่อ Tech Giants สัญชาติอเมริกันโดยตรง แต่กลับไม่ได้รับความไว้วางใจหรือให้การสนับสนุนทางตรงจากธุรกิจกลุ่มนี้เสียเท่าไหร่เนื่องจากภาพลักษณ์ที่ Trump มีต่อชาวโลกนั้นอาจส่งผลต่อแบรนด์ของพวกเขาได้นั่นเอง

Trade War ยังไม่จบ แต่ไบเดนจะไม่ดุเท่าทรัมป์อย่างแน่นอน !

เรื่องแรกที่น่าจะอยู่ในความสนใจของสายเทค ฯ ทั่วโลก แน่นอนว่าต้องเป็นประเด็นเรื่องนโยบายสงครามการค้าของทรัมป์ที่สุดโต่งชนิดเล่นเอายักษ์ใหญ่อยู่ไม่สุข ซึ่งผลกระทบไม่ได้อยู่เพียงแค่กับ Huawei หรือจีนเพียงฝ่ายเดียว แต่ลำพัง Tech Giants อเมริกันแท้ ๆ อย่าง Apple – Amazon หรือ Tesla เองก็ออกอาการไม่ปลื้มเสียเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่หนึ่งในนโยบายสำคัญของทรัมป์อย่างเช่นการประกาศลดอัตราภาษีเงินได้ของธุรกิจกลุ่มนี้นั้น ทำให้พวกเขามีรายได้สูงขึ้นอย่างชัดเจนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แถมความมั่งคั่งก็สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นที่เติบโตต่อเนื่องแบบสวนตลาด โดย Apple – Amazon – Facebook – Google – Microsoft – Netflix – Tesla ที่เคยมีมูลค่ารวมกันราว ๆ 72 ล้านล้านบาทในปี 2015 นั้น วันนี้มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 242 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว

“ส่วนลดทางภาษีที่พวกเขา (Tech Giants) ได้รับจากทรัมป์นั้นส่งผลต่อรายได้ในช่วงหลัง แต่เราต้องแยกปัญหาระยะสั้น ระยะยาว หรือแม้แต่ผลกระทบด้านราคาหุ้นออกจากกัน จะเห็นว่าพวกเขาอาจไม่ถูกใจนโยบายสงครามการค้านี้สักเท่าไหร่… “ – Tom Forte | นักวิเคราะห์จากวาณิชธนกิจชื่อดัง D.A. Davidson & Co.

Trump เริ่มต้นสงครามการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีสูงลิบลิ่วใส่สินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตจากจีน โดยตลอด 4 ปีในออฟฟิศของเขานั้น ขึ้นภาษีนำเข้าในส่วนนี้ไปแล้วกว่า 250% ซึ่งไม่ใช่เพียงธุรกิจจีนจะเดือดร้อนเท่านั้น แต่ธุรกิจสัญชาติอเมริกันที่ใช้จีนเป็นฐานผลิตนั้นอ่วมไปตาม ๆ กันเพราะต้นทุนสูงขึ้นมากแม้จะได้ประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้ธุรกิจอยู่บ้างก็ตาม Apple เป็นรายที่เดือดร้อนที่สุดในเรื่องนี้และแสดงความไม่เห็นด้วยมาตลอด เพราะนอกจากจีนจะเป็นฐานผลิตหลักแล้ว ชาวจีนยังเป็นลูกค้ารายสำคัญจากยอดขาย iPhone กับ Mac ที่มีสัดส่วนลูกค้าชาวจีนสูงถึง 15%

นอกจากเรื่องภาษีแล้ว Trump ยังมีแนวนโยบายการขัดแข้งขัดขา Tech Giants แดนมังกรชนิดกราดกร้าวสุด ๆ เรื่องนี้ Huawei กับ ByteDance (TikTok) น่าจะรับรู้ได้เป็นอย่างดีจากการถูกสกัดดาวรุ่งชนิดเอาใจไม่ถูกหลังถูกแบนชนิดไม่ต้องมีหลักฐานอ้างอิง ซึ่งทางนึงก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อ Tech Giants สัญชาติอเมริกันอยู่ไม่น้อยเช่นกรณีของ Huawei จากที่กำลังจะก้าวสู่เบอร์ 1 โลกเคียงข้าง Samsung และ Apple ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนช่วงหลัง ๆ มาก็ถึงกับเป๋ไปเหมือนกันหลังจากถูกสั่งห้ามขายในหลายที่ แถมถูกแบนไม่ให้คู่ค้าสัญชาติอเมริกันทำธุรกิจด้วยไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต Chipset หรือกรณีการให้บริการ Google Mobile Services (GMS) ก็ตาม

ซึ่งในเคสของทั้ง Huawei และ TikTok นั้น หากเพื่อน ๆ ได้ติดตามข่าวสารด้านธุรกิจสายเทคก็คงจะรับรู้กันได้เป็นอย่างดีเลยว่า ปัจจุบันนั้นรัฐบาลสหรัฐยังไม่สามารถหาหลักฐานมาอธิบายได้เลยว่าธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ของ Huawei และ TikTok นั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างไรบ้างมีแต่คำกล่าวอ้างลอย ๆ แต่ทำธุรกิจของพี่จีนเสียหายไปไม่น้อย และสำหรับ TikTok นั้นแทบจะกลายเป็นดีลลวงโลกไปเลยหลังจากที่รัฐบาลประกาศยกเลิกแบนให้ดื้อ ๆ เพียงแค่ได้รับการยืนยันว่าจะมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นของบริการในสหรัฐ ฯ มาเป็นของ Oracle กับ Walmart เอากับเขาสิ !

อ่านเพิ่มเติม: นักวิเคราะห์เผย Huawei อาจต้องออกจากธุรกิจสมาร์ทโฟน หากเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจาก Trade War กับรัฐบาลสหรัฐฯ | Trump กลับคำเฉย ! อนุมัติดีล TikTok ได้ไปต่อในสหรัฐ ฯ Oracle – Walmart ร่วมลงทุน

นโยบายทั้งหมดที่ดำเนินมาตลอด 4 ปีนั้น อันที่จริงอาจมีหลายส่วนที่ส่งผลดีตามแนวคิด “Make America Great Again” เพราะเป็นการใช้อำนาจต่อรองที่มีการเรียกเอาประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับคืน แต่ในอีกส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกัน (และแน่นอนว่าแทบจะทั่วโลก) นั้นเห็นแย้งกับวิธีการนี้มาก ๆ เพราะส่งผลให้ Supply Chain และการทำธุรกิจของบรรดา Tech Giants ทั่วโลกนั้นได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากการที่ทั้งสหรัฐ ฯ และจีนต่างก็เป็นพี่ใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีของโลกทั้งใบนั่นเอง

หลัง Joe Biden ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เราอาจจะได้เห็นการผ่อนปรนเรื่องสงครามการค้า สหรัฐ – จีนบ้าง แต่จะยังไม่ยกเลิกนโยบายนี้ทันที และคาดว่าหัวเว่ยก็จะยังถูกแบนต่อไป

สำหรับ Joe Biden นั้นแน่นอนว่าการมาของเขาจะทำให้นโยบายทั้งหมดนี้ต้องถูกพิจารณาใหม่อย่างถี่ถ้วนทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง แต่นักวิเคราะห์หลายส่วนต่างเชื่อกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่ Biden จะหวนคืนไปสู่วิถีแบบธุรกิจเสรีทั้งหมดเพราะปัจจุบันการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของ Tech Giants ก็ส่งผลให้มีอำนาจต่อรองในมืออยู่มาก เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่ชาวโลกจะมั่นใจได้เลยนั้นก็คือ Biden จะใช้วิถีแบบ Democrats หรือก็คือใช้ท่าทีที่เป็นมิตรในการเจรจาต่อรองเพื่อให้สมประโยชน์เป็นหลัก ไม่ใช่การกดดันแบบดุดันอย่างที่ Trump นั้นทำมาตลอด

Tech Giants มีเฮ ! นโยบายผู้อพยพและแรงงานต่างชาติจะเปิดกว้างอีกครั้งสำหรับนักล่าฝันทั่วโลก

สหรัฐ ฯ เคยถูกขนานนามให้เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและความฝันที่ไม่ใช่แค่สำหรับชาวอเมริกัน แต่เป็นเสมือนดินแดนแห่งความฝันของนักล่าฝันทั่วโลกที่มองเป็นจุดหมายปลายทางในอาชีพการงานและการอยู่อาศัยถาวรจากคุณภาพชีวิต รายได้เฉลี่ยและความมั่งคั่งสะสมของทรัพยากรที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกมาโดยตลอด ซึ่งเดิมทีสหรัฐ ฯ เป็นประเทศที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากอยู่แล้วนั้นได้เปิดกว้างให้แรงงานต่างชาติในสาขาอาชีพต่าง ๆ เข้ามาล่าฝันกันเสมอมา แต่สิ่งเหล่านี้กลับต้องสะดุดหยุดลงแทบจะทันทีภายหลังที่ Trump เข้าสู่ตำแหน่งในปี 2016 พร้อมประกาศกร้าวจะตั้งหน้าตั้งตาสร้างอาชีพในดินแดนอเมริกาคืนให้เป็นของคนอเมริกันให้ได้

โดยหนึ่งในนโยบายส่วนนี้คือการลดสัดส่วนแรงงานต่างชาติลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งทำให้บรรดา Tech Giants แห่ง Silicon Valley นั้นถึงขั้นประณามนโยบายนี้กันเลย เพราะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐ ฯ นั้นนับว่าเป็นพื้นที่ ๆ มีความต้องการศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลชนิดสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะสำหรับแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรม การเงิน การบริหาร ซึ่งการไม่จำกัดสัญชาตินั้นทำให้บุคคลที่เก่งระดับโลกนั้นมองหาแบรนด์อเมริกันเป็นที่แรก ๆ เสมอก็เพราะชื่อเสียง แต่ในระยะหลัง ๆ มานี้พวกเขากลับต้องพบกับความยากลำบากในการขออนุญาตเข้าทำงานในดินแดนสหรัฐ ฯ เพราะ Trump มองว่าเขาอยากสงวนงานพวกนี้ไว้ให้อเมริกันชนแท้ ๆ มากกว่า

นโยบายด้านนี้ของทีมงาน Biden นั้นถือว่าค่อนข้างชัดเจนในระดับหนึ่งเพราะเขานั้นเป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนแนวคิดการเปิดกว้างดินแดนของสหรัฐ ฯ เพราะพวกเขามองว่าในเมื่อแบรนด์อเมริกันโดยเฉพาะ Tech Giants นั้นต่างก็ถูกยกย่องว่าดีที่สุดในโลก การเปิดกว้างด้านนโยบายผู้อพยพนั้นจะส่งผลให้ Tech Giants เหล่านี้ช่วยดึงดูดคนที่เก่งที่สุดในโลกในสาขาต่าง ๆ ให้อยากมาทำงานกับพวกเขาเพื่อให้ยังมั่นใจว่าพวกเขาจะยังเป็นที่หนึ่งได้จากศักยภาพของบุคลากรด้านต่าง ๆ นั่นเอง นโยบายแบบนี้นี่แหละทำให้คนเก่ง ๆ ที่เป็นชาวต่างชาติ สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO ของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Google ได้แบบ Sundar Pichai หรือแม้แต่ Satya Nadella ของ Microsoft ก็ตาม

Biden ใช่ว่าจะซอฟต์ไปเสียหมด ชูนโยบายป้องกันทุนผูกขาดที่ขึงขังยิ่งกว่า Trump

ประเด็นสำคัญเรื่องสุดท้ายที่บรรดากูรูสายเศรษฐกิจมองเอาไว้สำหรับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลค่าย Republican นำโดย Trump ไปสู่ Biden จากค่าย Democrat ส่งเข้าประกวดหลังจากผ่านไปเพียง 4 ปีนั้น คือนโยบายป้องกันการผูกขาดหรือที่เรียกกันว่า “Antitrust” ซึ่งภายใต้รัฐบาลของ Trump ก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แถมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้รับความเห็นชอบเป็นฉันทามติจากทีมงาน Democrat เป็นอย่างดี และนี่อาจเป็นนโยบายที่เหล่า Tech Giants จะต้องปวดหัวมากกว่าเดิมสำหรับการมาของ Biden ที่ชูนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ – ป้องกันการผูกขาด แบบเอาจริงเอาจังเสียยิ่งกว่า Trump ที่นิยมแนวคิดส่งเสริมนายทุนอเมริกันให้ยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นเลิศซะมากกว่า

Biden เน้นย้ำอย่างชัดเจนมาตลอดถึงความพยายามของพวกเขาในการกำจัดปัญหาทุนผูกขาด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทค ฯ อย่าง Google ถูกเพ่งเล็งเรื่องปัญหาการผูกขาดแสดงเนื้อหาโฆษณาบน Search Engine ส่วน Apple นั้นถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นระบบปิดของ iOS ที่เอาเปรียบคู่ค้าผ่านระบบการจ่ายเงินและ App Store ซึ่งนอกจากนี้แล้วการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการต่าง ๆ ของบรรดา Tech Giants แห่งย่าน Silicon Valley นั้นจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีกภายใต้การนำของ Biden เพราะพวกเขาส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมภายในอุตสาหกรรมมากกว่าการหนุนนายทุนชื่อเก่า ๆ มั่งคั่งอยู่กระจุกเดียว เชื่อว่า พี่มาร์ค ซีอีโอหนุ่มของ Facebook อาจเป็นอีกคนที่ไม่ถูกใจแนวนโยบายแบบนี้เป็นที่สุด

อ่านเพิ่มเติม: จับประเด็นร้อน เมื่อซีอีโอของ Amazon – Apple – Facebook – Google ถูกเรียกไต่สวนข้อหาผูกขาดการค้า (Antitrust)

สุดท้ายแล้วพวกเราในฐานะผู้หลงไหลในเทคโนโลยี ยังคงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่า การมาของ Joe Biden ในฐานะผู้นำสูงสุดคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาซึ่งยังคงต้องนับว่าเป็นมหาอำนาจของโลกในด้านเทคโนโลยีอยู่ในขณะนี้ จะมีทิศทางต่อไปอย่างไร และจะมีประเด็นใดบ้างที่กระทบมาถึงผู้บริโภคชาวไทย ทีมงาน DroidSans ได้ติดตามทิศทางใหม่เหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อนำเสนอให้เพื่อน ๆ ได้ทราบกันอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง: CNN Business | CNET

12/11/2020 07:48 AM