ประมูล 5G | ประเทศไทย และ เรา พร้อมแค่ไหน - Android

Get it on Google Play

ประมูล 5G | ประเทศไทย และ เรา พร้อมแค่ไหน - Android

เตรียมตัวจะประมูลกันในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นี้แล้ว สำหรับคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้งาน 5G ในประเทศไทย ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตาดูว่าจะมีใครเข้าประมูลในครั้งนี้บ้าง แต่เชื่อว่าสิ่งนึงที่หลายคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจก็คือ ประเทศเราจะเอา 5G มาทำอะไร หรือมันจะเป็นแค่เวอร์ชั่นใหม่ของ 4G ที่ทำให้ใช้โหลดอะไรได้เร็วขึ้นเท่านั้นหรือ? วันนี้เราจะพาไปดูกันลึกๆให้เข้าใจกัน สรุปสั้น 5G คืออะไร ดีกว่า 4G อย่างไร? 4G ➡︎ 5G การตอบสนอง (Latency) 10 ms เร็วขึ้น […]

เตรียมตัวจะประมูลกันในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นี้แล้ว สำหรับคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้งาน 5G ในประเทศไทย ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตาดูว่าจะมีใครเข้าประมูลในครั้งนี้บ้าง แต่เชื่อว่าสิ่งนึงที่หลายคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจก็คือ ประเทศเราจะเอา 5G มาทำอะไร หรือมันจะเป็นแค่เวอร์ชั่นใหม่ของ 4G ที่ทำให้ใช้โหลดอะไรได้เร็วขึ้นเท่านั้นหรือ? วันนี้เราจะพาไปดูกันลึกๆให้เข้าใจกัน

สรุปสั้น 5G คืออะไร ดีกว่า 4G อย่างไร?

4G➡5G
การตอบสนอง (Latency)10 msเร็วขึ้น<1 ms
ขีดการรับส่งข้อมูล (Data Traffic)7.2 Exabytes / เดือนมากขึ้น50 Exabytes / เดือน
ความเร็วรับส่งสูงสุด (Peak Data Rates)1 Gbpsเยอะขึ้น20 Gbps
คลื่นความถี่ที่รองรับ (Available Spectrum)3 GHzกว้างขึ้น30 GHz
ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ (Connection Density)100,000 การเชื่อมต่อ / ตร.กม.แน่นขึ้น1,000,000 การเชื่อมต่อ / ตร.กม.

สเปคที่เปลี่ยนไปของ 4G > 5G

ถ้าจะบอกว่า 5G คือ 4G ที่ดีกว่าเร็วกว่าก็ไม่ผิดนัก โดยสำหรับใช้งานทั่วไปทุกวันนี้ หลายคนคงจะบอกว่า 4G เพียงพอแล้ว จะเอาเร็วขึ้นกว่าเดิมไปทำไม แต่ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของ 5G นั้นมันจะปลดล็อคความสามารถที่จะเกิดขึ้นมาบนโลกได้อีกมากเลย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ 5G เปลี่ยนโลกได้นั้นก็มี 3 แกนหลักๆ คือ

  1. การตอบสนองดีกว่า 4G 10 เท่า | เชื่อมต่อ-ควบคุม สิ่งที่อยู่ห่างกันได้เสมือนใช้งานอยู่ตรงหน้า ปลดล็อคความสามารถด้านการบังคับรถยนต์ เครื่องมือผ่าตัด หรืออุปกรณ์ต่างๆผ่านทางไกลได้
  2. การดาวน์โหลดข้อมูลเร็วกว่า 4G 20 เท่า | โหลดหนังและข้อมูลขนาดใหญ่ได้รวดเร็วกว่าเดิม ปลดล็อคความสามารถด้าน VR AR ให้เกิดขึ้นได้จริง
  3. การรองรับอุปกรณ์มากกว่า 4G 10 เท่า | หมดปัญหาอยู่ในพื้นที่แออัดแล้วเน็ตเวิร์คพัง เพิ่มจำนวนอุปกรณ์ที่รองรับต่อเสาสัญญาณให้มากขึ้น ที่ในอนาคตจะไม่มีเพียงแค่มือถือ แต่รวมไปถึงอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้อยู่บนเครือข่ายใช้งานได้โดยไม่ติดขัด

แต่ละอย่างที่บอกไปไม่ว่าจะ บังคับรถยนต์ระยะไกล ดาวน์โหลดข้อมูลขนาดใหญ่ หรือรองรับอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก มันช่างดูล้ำสมัยไฮเทค จนดูเหมือนว่าประเทศเรายังช่างดูห่างไกลกับเทคโนโลยีเหล่านั้นในสายตาใครหลายคน แต่ในความเป็นจริง นอกเหนือจากเครือข่ายที่ต่างพัฒนาตัวเองให้รองรับ 5G แล้ว ก็ยังมีหน่วยงานและธุรกิจอีกหลายเจ้าที่พยายามพัฒนาและฉีกข้อจำกัดเดิมๆ ผ่านเทคโนโลยี 5G กันไม่น้อย

5G ในประเทศไทย เป็นอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันเครือข่ายต่าง ๆ ทั้ง เอไอเอส ทรูมูฟ หรือดีแทค ต่างยังไม่มีคลื่นที่เหมาะสมในการพัฒนาเครือข่าย 5G ซึ่งการประมูลคลื่นเพื่อนำเอาไปใช้งาน 5G โดยเฉพาะก็จะเริ่มในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ โดยช่วงก่อนหน้านี้แต่ละเครือข่ายต่างมีการขออนุญาตทางกสทช. ทดสอบใช้คลื่นในช่วงความถี่ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจและพัฒนาเทคโนโลยีกัน

  • AIS เริ่มทำการทดสอบครั้งแรก พ.ย. 2018
  • Truemove H เริ่มทำการทดสอบครั้งแรก ธ.ค. 2018
  • Dtac เริ่มทำการทดสอบครั้งแรก ก.ย. 2019

ทดสอบ 5G ไม่ใช่แค่การตลาด แต่เป็นเรื่องทางเทคนิคล้วนๆ

เราได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ 5G จากเครือข่ายต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนบางคนอาจจะเข้าใจว่าการทดสอบนี้คือการเอาคลื่นมาลองใช้เพื่อขิงข่มกันในเชิงการตลาดเท่านั้น ซึ่งตรงนี้หลังจากที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ H-NOS ของทางเอไอเอส จึงเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องทางเทคนิคล้วนๆ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างมากหากต้องการวางเครือข่าย 5G ให้ได้ประสิทธิภาพ

เพราะคลื่นความถี่และลักษณะที่ใช้งานที่แตกต่าง การทดสอบลองใช้ 5G จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

สิ่งที่ทำให้ 5G ต่างออกไปจากเมื่อคราว 4G ก็คือ คลื่นความถี่ และลักษณะการใช้งาน ที่ไม่เหมือนกัน โดย 4G จะใช้งานตั้งแต่ช่วงความถี่ 700 – 3500 MHz และอุปกรณ์ที่ทดสอบด้วยจะมีเพียงสมาร์ทโฟนเป็นหลักเท่านั้น แต่ 5G จะมีช่วงคลื่นที่ใช้งานมากขึ้น ความถี่ขยับขึ้นสูงไปถึง 30,000 MHz โดยความถี่ที่สูงระดับหมื่นนี้จะมีระยะทำการของคลื่นที่สั้นและอ่อนไหวมาก จากที่เสาส่งสัญญาณต้นนึงส่งได้ไกลหลายกิโลเมตร ทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดี จะเหลือแค่หลักร้อยเมตร รวมถึงมีสิ่งกีดขวางเล็กน้อยคลื่นก็หายแล้ว และความยากลำบากยังรวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้งานบน 5G จะไม่ได้มีแค่สมาร์ทโฟน แต่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลากหลายไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ แว่นตา อุปกรณ์การแพทย์ เซนเซอร์ต่างๆ และอื่นๆอีกมาก ซึ่งการจับจูนให้คลื่นและอุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานร่วมกันได้ ในสภาพแวดล้อมต่างๆ คือความท้าทายอย่างมาก ต้องเจอโจทย์ อุปสรรค ปัญหาต่างๆ ที่ต้องกลับมาคิดค้น พัฒนา หาโซลูชั่น ลองผิด / ลองถูก อยู่เสมอ โดยเครือข่ายที่เริ่มทดสอบตั้งแต่ช่วงนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการใช้งาน 5G เป็นเครือข่ายแรกๆ ของโลกเลยก็ว่าได้

ทดสอบ 5G กับอะไรไปแล้วบ้าง

การทดสอบ 5G ประเทศไทยมีการเริ่มครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2018 และตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา โดยในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างการทดสอบของทางเอไอเอสมาเล่าให้อ่านกัน เพื่อให้ได้เห็นภาพกันมากขึ้น คลื่นความถี่ที่ได้ลองติดตั้งทดสอบกันจะมีทั้ง Sub6 [2600 MHz, 3500 MHz] และ mmWave [26 GHz] ที่มีความยากในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป

  • คลื่น 26 GHZ เป็นคลื่นที่แบนวิธกว้าง ให้ความเร็วสูง แต่ Coverage แคบ ทำให้พบข้อจำกัด คือเรื่องการปิดกั้นของผนัง หรือวัตถุที่มาบดบังสัญญาณ  และเป็นคลื่นที่ไม่มีมือถือรองรับ Use Case จึงเน้นไปที่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม, การทำงานของหุ่นยนต์, Cloud, AR, VR
    การทดสอบแขนกลเชื่อมต่อ 5G เพื่อใช้งานในงานอุตสาหกรรม Industrial 4.0
    สามารถสั่งควบคุมและตรวจสอบเครื่องจักรจากระยะไกลได้
    ควบคุมโดรนระยะไกล สั่งงานจากเชียงใหม่ ไปยังเครื่องโดรนที่กรุงเทพ

    ควบคุมรถยนต์ไร้คนขับระยะไกล จากศูนย์ควบคุมที่กรุงเทพ ไปยังรถยนต์ที่หาดใหญ่
  • คลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นที่ประเทศอื่นใช้กับ 5G อย่างแพร่หลาย เช่น จีน แม้ว่าคลื่นจะไม่ได้มีแบนวิธที่กว้างเหมือนคลื่น 26 GHz แต่ก็จะมี Coverage ที่กว้างกว่า และมีมือถือรองรับ ซึ่งทาง AIS ได้มีการนำมาใช้ทดสอบเรื่องความเร็วบนมือถือ 5G เช่น การนำความเร็วคลื่น 5G กับ AIS Super Wifi ทำให้เกิดเครือข่าย NEXT G+ ให้สปีดสูงสุดถึง 2 กิกะบิตบนมือถือ, 5G VDO Call Conference ข้ามภูมิภาค เป็นต้น
    และเมื่อทดสอบ 5G ร่วมกับ AIS Super WiFi สามารถทำความเร็วได้เกิน 2Gbps
  • คลื่น 2600 MHz คลื่นนี้มีคุณสมบัติคล้ายกับคลื่น 3500 MHz คือ คลื่นที่แบนวิธน้อยกว่าย่าน 26 GHz, Coverage กว้างกว่า, และมีมือถือรองรับ ซึ่งล่าสุดได้ทำการทดลองในเชิงอุตสาหกรรมกับ SCG เกิดเป็น Real Use Case จริง ๆ ขึ้นมา ใช้งานได้จริงในโรงงานของ SCG ทำให้การขับรถเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยตัวพนักงานไม่ต้องเข้าไปเสี่ยงอีกต่อไปด้วย
    ให้พนักงานสามารถรีโมทเข้าไปขับรถโฟคลิฟต์ ควบคุมจากระยะทางไกลกว่า 130 กิโลเมตรได้

ทั้งหมดนี้ทำให้เครือข่ายได้เรียนรู้ข้อดีและข้อจำกัด ต้องคิดค้น พลิกแพลงวิธีการหรือโซลูชั่นในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น วิศวกรของเอไอเอสต้องนำกระจกมาตั้งตามมุมตึก ที่เป็นมุมอับของสัญญาณ 5G แบบ mmWave เพื่อสร้างการสะท้อนของคลื่น เป็นต้น ตรงนี้ทางทีมเน็ตเวิร์คบอกว่าจะทำงานระดับนี้ได้ ตัวโอเปอร์เรเตอร์ต้องมีความจริงจัง และทุ่มเทในการศึกษา เพื่อให้เข้าใจลักษณะการใช้คลื่น หาโซลูชั่น ลองผิด / ลองถูก ชนิดที่เรียกว่า Network Tailor-made หรือปรับแต่งเครือข่ายให้เข้ากับแต่ละงานไป สร้างโซลูชั่นส์ที่เหมาะสม เป็นต้นแบบ 5G Use Cases ที่น่ามาประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต


Timeline การทดสอบ 5G ที่ผ่านมาของ AIS ไปมาแล้วครบทุกภาค

5G ไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกคนใช้งาน แต่ได้ประโยชน์กันทุกคน

ในการทดสอบใช้งาน 5G ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งที่ใกล้เคียงกับการใช้งานของผู้ใช้อย่างเรามากที่สุด คงจะมีเพียงแค่การดาวน์โหลดที่ไว หรือการทำวิดีโอคอล ซึ่งต่างก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเราสามารถทำได้ตั้งแต่ยุค 4G แล้ว ที่อาจจะเห็นชัดขึ้นมาหน่อยก็คือใครมีอุปกรณ์ 5G ก็จะได้ความเร็วที่ดีขึ้นแม้อยู่ในพื้นที่แออัดก็ตาม แต่ถ้าทำได้เท่านี้ก็ฟังดูไม่เข้าท่านักกับการประมูลคลื่นกันมาแพงๆ แต่กลับทำได้เท่าเดิม

แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า 5G มันเป็นมากกว่า 4G ที่เร็วขึ้น ด้วยความที่ตอบสนองที่ดีกว่า ดาวน์โหลดข้อมูลได้เร็วกว่า และรองรับอุปกรณ์จำนวนมากได้ สิ่งที่ 5G จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นหลักจะอยู่ที่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ลองนึกถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดจำนวนคนลง ไม่ต้องวุ่นวายจัดทำจัดเก็บเอกสาร เปลี่ยนการจัดการระบบสินค้าให้ง่ายขึ้น ใช้เครื่องจักรและเซนเซอร์ต่างๆ ในการดำเนินการ ก็จะทำให้ภาพรวมของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่รับเอาเทคโนโลยี 5G ไปใช้ สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ดีขึ้นทันที ลองนึกถึงภาพที่เกษตรกรสามารถทำนาได้โดยไม่ต้องลงแรงหนักเท่าเดิม พนักงานหน้าร้านที่ไม่ต้องมีจำนวนมากเหมือนแต่ก่อน ซึ่งจำนวนคนที่หายไปนี้ คาดกันว่าจะเกิดเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมาอีกมาก ซึ่งตรงนี้เองที่ 5G จะเป็นตัวสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายได้

ความยากของ 5G ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการผลักดันทุกฝ่ายให้มาใช้งาน


5G เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เครือข่าย และหน่วยงานการศึกษา

มีการคาดการณ์ว่า 5G จะเกิดขึ้นในระดับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจก่อนระดับผู้ใช้ทั่วไป แต่แม้ว่า 5G จะดูดีมีประโยชน์แค่ไหน แต่การหาคนที่พร้อมจะลงทุนปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความดิจิทัล (Digital Transformation) ฝึกสอนพนักงานที่เคยชินกับการทำงานแบบเดิมๆ มาเป็นสิบปี ให้อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร และนั่นก็ยังไม่ได้ยากที่สุดสำหรับ 5G เพราะการหาโซลูชั่นทั้งคนเข้าไปช่วยวางแผน หรือบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการสำหรับธุรกิจให้ใช้งาน 5G ได้ด้วย เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า

ด้วยความที่ 5G เป็นเรื่องที่ใหม่มาก เรียกว่านับประเทศที่มีการใช้งานจริงจัง ทำให้เกิดประโยชน์ได้จริงทั่วโลก ยังมีอยู่ไม่ถึง 10 ประเทศเสียด้วยซ้ำ หลายประเทศที่บอกว่าเปิดทดลอง มีตัวอย่างใช้งาน 5G จริงให้เห็น แต่พอเสร็จจากโชว์เคสแล้วต้องทิ้งตัวอย่างทั้งหมดไป เพราะใช้งานจริงได้ยากก็มี เรียกว่ายังต้องศึกษาทดลองทดสอบอยู่ ยังไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ โจทย์การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในไทย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และยาก แต่จากตัวอย่างที่เราได้เห็นข้างต้น ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสทางธุรกิจที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอีกมากเช่นกัน เป็นโจทย์ของผู้ให้บริการอย่างโอเปอร์เรเตอร์ ที่จะต้องมองหาโอกาสในการต่อยอด 5G Ecosystem ให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่าที่สุดต่อการลงทุนมหาศาล ไม่ว่าจะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงเทคโนโลยี 5G ที่ถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ ทั้งกับประเทศไทย และทั่วโลก 

เราได้เห็นการบังคับโดรนผ่าน 5G ในงานโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 2018 ณ เมืองพย็องชัง จังหวัดคังว็อน ประเทศเกาหลีใต้กันมาแล้ว แต่หลังจากงานนี้เห็นว่าโซลูชั่น 5G ที่ใช้ยังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก รวมถึงต้องทิ้งบางส่วนเพื่อไปพัฒนาด้านอื่นแทนไปเลยก็มี

5G บ้านเราจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? และใช้คลื่นไหน?

ด้วยความที่ 5G ให้บริการบนคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่ก็เป็นทรัพยากรของชาติ ไม่ใช่ว่าใครๆจะสามารถใช้งานได้เลย กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ควบคุมดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ในประเทศไทย ก็ได้ประกาศจัดประมูลคลื่นความถี่ที่จะถูกนำมาใช้งาน 5G นี้ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้แล้ว

กสทช. ประกาศโรดแมป 5G เตรียมเคาะประมูล ก.พ. 63 และเริ่มใช้ ก.ค. ปีเดียวกัน

สำหรับคลื่นความถี่ที่ใช้พัฒนา 5G กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ ช่วงคลื่น 3500 MHz แต่ในการประมูลวันที่ 16 ก.พ. ที่จะถึงนี้ จะไม่มีคลื่นนี้นำออกมาให้แต่ละเครือข่ายเข้าร่วมจับจองแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร คลื่นนี้จะถูกในมาใช้ในอุตสาหรรมดาวเทียม โดยในไทยทางไทยคมก็ใช้งานอยู่ ทำให้คลื่นที่จะถูกนำมาพัฒนาใช้งาน 5G ในประเทศไทยถูกปรับเป็นคือคลื่น 2600 MHz แทน ที่อาจจะแพร่หลายน้อยกว่า ซึ่งบางคนก็กังวลว่า จะมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่รองรับหรือไม่ แต่ตามข้อมูลที่รับมา ปัจจุบันคลื่น 2600 MHz เริ่มได้รับความนิยม ใช้กันในหลายประเทศมากขึ้น จากการผลักดันของจีนที่เป็นผู้นำด้าน 5G ได้ให้คลื่น 2.6GHz นี้แก่เครือข่าย China Mobile ในการพัฒนาและใช้งานจนเริ่มมีอุปกรณ์เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากแล้วนั่นเอง

ตารางคลื่นความถี่ที่จะถูกนำเข้าประมูลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้

 700 MHz

1800 MHz

2600 MHz

 26 GHZ

คลื่นความถี่ต่อใบอนุญาต2×5 MHz2×5 MHz10 MHz100 MHz
จำนวนใบอนุญาต3 ใบ7 ใบ 19 ใบ27 ใบ
ราคาต่อใบอนุญาต8,792 ล้านบาท12,486 ล้านบาท1,862 ล้านบาท300 ล้านบาท

หากการประมูลเสร็จสิ้นไปด้วยดี ประเทศไทยจะมีคลื่น 5G หลักทั้ง Sub6 (2600MHz) และ mmWave (26GHz) มาให้บริการประชาชน ส่วนคลื่น 700MHz และ 1800MHz นั้นคงต้องรอติดตามว่าจะมีใครนำไปใช้งานเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะยังมีการประเมินว่าเหมาะกับการให้บริการ 4G มากกว่าอยู่

พร้อมใช้ 5G กันรึยัง?

สำหรับอนาคตของ 5G ในเมืองไทย คงต้องติดตามหลังการประมูลว่าจะมีใครเข้าร่วมกันบ้าง โดยน่าจะรู้ผลในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ที่เป็นวันยื่นซองแจ้งความจำนง และสุดท้ายใครเป็นคนได้ใบอนุญาตไป รวมถึงจะมีการพัฒนาให้ระดับผู้ใช้งานทั่วไปเข้าถึงได้เมื่อไหร่ แต่สิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมและหาข้อมูลรอกันได้เลยก็คงจะไม่พ้น

  • อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน
  • แอปหรือบริการที่จำเป็นต้องใช้
  • ราคาแพ็กเกจที่ต้องจ่ายเพิ่ม
  • ความครอบคลุมของสัญญาณ

ซึ่งน่าสนใจว่าอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานนี้ เห็นสมาร์ทโฟนค่ายจีนหลายเจ้าก็เริ่มขยับตัว และเตรียมเข็นรุ่นที่รองรับ 5G เข้ามาขายในราคาที่เอื้อมถึงได้ไม่ยากออกมากันแล้ว แค่หมื่นกว่าบาทก็พร้อมจับจองใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ได้เลย ที่เหลือก็น่าจะต้องรอลุ้นถึงค่าใช้จ่ายว่าจะออกมาที่เท่าไหร่ และเปิดให้ใช้ในพื้นที่ใดบ้างต่อไป

ส่วนใครที่เป็นเจ้าของกิจการ ห้างร้าน ที่สนใจจะเอา 5G ไปใช้งานกัน ก็รอติดตามข่าวกับพวกเราต่อไปได้ ว่าจะมีสินค้าและบริการอะไรบ้างที่จะช่วยทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าคุณได้มากขึ้น จัดการกับคนและลดกระบวนการอันน่าปวดหัวลงในบริษัทได้อย่างไรกันครับ

31/01/2020 10:06 AM