สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบันที่มีการระบาดกันหลักพันต่อวัน ผู้ติดเชื้อต่างต้องมีการไล่เรียง Timeline เพื่อเตือนคนรอบข้างให้เฝ้าระวังและไปตรวจหาเชื้อกันอย่างยากลำบาก ก่อนหน้านี้ทางภาครัฐได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงแอป “หมอชนะ” ที่ติดตามสถานที่ที่เราไปมาให้อัตโนมัติและแจ้งเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงมาโดยตลอดแต่จนถึงวันนี้กลับไม่มีใครได้รับแจ้งเตือนใดๆ และแม้แต่คนติดเชื้อแล้วก็ยังได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำมากอีกด้วย
ในทางทฤษฎี แอปหมอชนะจะมีการส่งข้อความแจ้งเตือนให้กับคนกลุ่มเสี่ยงทันทีว่าให้เฝ้าสังเกตดูอาการ หากตัวแอปพบว่า ผู้ใช้งานคนนั้น ๆ ได้เดินทางไปอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีคนติดเชื้อโควิด (ทุกคนต้องมีแอปติดไว้ในเครื่องด้วย) ซึ่งตรงนี้ ก็มีหนึ่งในทีมงานของ DroidSans พบว่า ตัวเองติดเชื้อโควิด แต่จนถึงตอนนี้ตัวแอปกลับยังไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ออกมา ไม่มีการแจ้งเตือนว่ามีผู้ติดเชื้อ ทั้งที่ทีมงานทุกคนในออฟฟิศต่างมีแอปหมอชนะติดตั้งเอาไว้ด้วยกันหมด
หมอชนะยังขึ้นว่ามี “ความเสี่ยงต่ำมาก” แม้ว่าจะติดโควิดไปแล้วก็ตาม
กลายเป็นตอนนี้ ทุกอย่างต้องทำแบบ Manual ทั้งหมด คนติดเชื้อต้องย้อน Timeline ย้อนหลัง 14 วันของตนด้วยตัวเอง รวมถึงทักไปหาคนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ นั่งข้างกัน นั่งกินข้าวด้วยกัน หรือมีการพูดคุยกันในระยะประชิด แจ้งเตือนให้เขารู้ เพื่อที่จะเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสตัวนี้กันต่อไป ก่อนจะเกิดคลัสเตอร์แห่งใหม่ขึ้น ซึ่งในระหว่างรอตรวจหาเชื้อ ทางทีมงานทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎทุกอย่าง คือกักตัวเองอยู่ในบ้าน ไม่ออกไปไหนหากไม่มีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม เราสามารถใช้ประโยชน์จากแอป Google Maps ให้ช่วยเก็บข้อมูลการออกไปข้างนอกของเราย้อนหลัง 14 วันได้ ทั้งหมดเพียงแค่เปิด Location Services ทิ้งเอาไว้นั้นเอง โดยเพื่อน ๆ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความด้านล่างเลยครับ
ส่วนตัวผมเลยไปเช็ค Feedback ของแอปหมอชนะตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็พบว่า หลายคนเจอปัญหาแบบเดียวกัน คือตัวเองติดเชื้อโควิดไปแล้ว แต่แอปหมอชนะ ยังคงบอกว่าตนนั้นมีความเสี่ยงต่ำมากอยู่
หลังจากทราบข่าวว่ามีคนที่ออฟฟิศติด ทีมงานทุกคนก็ไม่รอช้า รีบติดต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน ขอเข้ารับตรวจหาเชื้อโควิดกันทันที โดยรอผลตรวจกันอยู่ประมาณ 1 – 2 วัน ก็พบว่าไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติม ทุกคนยังเป็นปกติดีหมด เวลาล่วงเลยมาหนึ่งอาทิตย์ ยังไม่มีใครมีอาการสุ่มเสี่ยงว่าจะติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าสาเหตุที่ไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติมเลย มาจากทีมงานคนที่ติดเชื้อใส่หน้ากากตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี คาดว่าหากกักตัวครบ 14 วันแล้ว อาจจะต้องมีการไปแหย่จมูก ตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำอีกที เพราะการตรวจครั้งแรก ยังมีความเป็นไปได้ที่เจ้าเชื้อโควิดนี้ยังไม่ได้เกิดการฟักตัว ทำให้แหย่จมูกเข้าไปแล้วยังหาเชื้อไม่เจอนั่นเอง
ในตอนแรกเริ่ม โค้ดทั้งระบบของแอปหมอชนะ ถูกเขียนและพัฒนาโดย CodeForPublic ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ที่รวบรวมนำเอานักพัฒนาหัวกะทิของไทยมาเข้าไว้ด้วยกัน คอยพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แชร์วิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
แต่ภายหลัง ทีมพัฒนาจาก CodeForPublic และทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team กลับออกมาโพสต์ขอยุติบทบาทจากโปรเจกต์ดังกล่าวนี้ทั้งหมด พร้อมกับส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐฯ รับไม้ต่อไปดูแลแทนแบบ 100%
จุดประสงค์ของการริเริ่มแอปหมอชนะในตอนแรกนั้น เกิดขึ้นจากทีมนักพัฒนา CodeForPublic มีความหวังดี อยากประดิษฐ์เครื่องมือที่เข้ามาช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากในการเดินทางออกนอกบ้านของประชาชน จากเดิมที่ต้องยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาสแกน QR Code เข้าออกของไทยชนะทุกรอบ แต่พอมีแอปไทยชนะ ก็ไม่ต้องทำเช่นนั้นแล้ว เพราะตัวแอปแทบจะทำให้ทุกอย่าง ผู้ใช้งานเพียงแค่กรอกข้อมูลและตั้งค่านิดหน่อยเท่านั้นในการใช้งานครั้งแรก
โดยการทำงานของแอปหมอชนะก็คือ ตัวแอปจะขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน สำหรับนำไปประมวลผลว่า ผู้ใช้งานคนนั้น ๆ ได้เดินทางไปพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือเปล่า ซึ่งหากพบว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงล่ะก็ ทางตัวแอปก็จะส่ง SMS แจ้งเตือนให้เฝ้าสังเกตดูอาการทันที แบบเดียวกับกรณีระยองที่ผมเคยรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้
อ้างอิงจาก นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกของศบค. ที่เปิดเผยสถิติข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจของแอปหมอชนะไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่าแอปหมอชนะมียอดติดตั้งกว่า 5.34 ล้านครั้งแล้ว และมีผู้ลงทะเบียนมากถึง 1,681,803 คน ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ๆ หากภาครัฐฯ ที่รับหน้าที่ดูแลแอปหมอชนะอยู่ตอนนี้ เล็งเห็นถึงศักยภาพของแอปว่ามีล้นมือขนาดนี้ ลงทุนพัฒนาแอปและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตั้งใช้งานกันมากกว่านี้ หากเกิดคลัสเตอร์การระบาดครั้งใหม่ขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยของเราน่าจะมีตัวช่วยให้รับมือกับโรคระบาดได้มากกว่านี้เป็นแน่
และถือเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์อีกด้วย ข้อมูลที่ประชาชนกรอก ๆ ไปในแอปหมอชนะก็ดี หรือตอนสแกน QR Code กับไทยชนะก็ดี ข้อมูลทั้งหมดสามารถนำมาใช้ติดตามผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงส่งข้อความแจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงได้หมดทั้งสิ้น
20/04/2021 11:36 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย