องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาสนับสนุนให้ลดการสัมผัสธนบัตรเพื่อชำระเงิน และให้หันมาใช้วิธีชำระเงินแบบไร้สัมผัส ในระหว่างการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ช่วงนี้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ ถึงขั้นต้องกักธนบัตรเอาไว้ในตู้เซฟเป็นเวลากว่าสิบวัน เพื่อให้แน่ใจว่าไวรัสที่อยู่บนธนบัตรจะตายหมด ก่อนนำออกมาใช้อีกครั้ง
ในตอนนี้ ทางธนาคารกลางของประเทศเกาหลีใต้ได้เริ่มนำนโยบายดังกล่าวมาใช้แล้ว โดยจะนำธนบัตรที่มาจากธนาคารท้องถิ่นมาเก็บในตู้เซฟเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อให้เชื้อไวรัสที่ติดอยู่บนธนบัตรตายหมดซะก่อน ซึ่งเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อยู่นอกร่างกายคนจะสามารถเกาะอยู่บนพื้นสัมผัสอื่นๆ อย่างเช่นธนบัตรได้และจะมีชีวิตอยู่บนนั้นได้ถึง 9 วัน
สำหรับต้นกำเนิดเชื้อ COVID-19 อย่างประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจีนได้ขอร้องให้เหล่าบริษัทเงินกู้ต่างๆ ทำการฆ่าเชื้อธนบัตร และเก็บเอาไว้ในตู้เซฟเป็นเวลา 14 วัน ก่อนที่จะนำมาใช้ หรือเอาไปฝากธนาคาร
ระบบธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Reserve ก็ได้เริ่มนำนโยบายนี้มาใช้ในการจัดเก็บธนบัตรสกุลดอลลาร์ที่มาจากประเทศในแถบเอเชียเป็นเวลา 7-10 วันก่อนที่จะนำธนบัตรดังกล่าวกลับเข้ามาหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป
นอกจากนี้ธนาคารกลางอังกฤษ ยังได้ออกมาให้ข้อมูลว่าธนบัตรที่ใช้กันในชีวิตประจำวันนั้น เหล่าไวรัส และเชื้อโรคต่างๆ สามารถเกาะติดอยู่ได้เป็นเวลาหลายวัน พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัสธนบัตรเหล่านั้นด้วยค่ะ
ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้โฆษกขององค์การอนามัยโลก ได้ออกมาสนับสนุนให้ทุกคนควรใช้เทคโนโลยีการจ่ายเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) แทนการใช้เงินสดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรคที่ติดมากับธนบัตรนั่นเองค่ะ ซึ่งในบ้านเราก็มีบริการดังกล่าวให้ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านบริการพร้อมเพย์, QR Code, กระเป๋าสตางค์ดิจิตอล ฯลฯ
ส่วนใครที่ต้องชำระเงินกับร้านที่ไม่รองรับบริการไร้สัมผัสดังกล่าว และยังจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ในการซื้อของ ก็อย่าลืมล้างมือให้สะอาดหลังการจับทั้งธนบัตร หรือเหรียญต่างๆ ด้วยนะคะ…ปลอดภัยไว้ก่อน เป็นดีที่สุดค่ะ
ที่มา : Forbes
11/03/2020 07:00 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย