TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หนึ่งในบริษัทผลิตชิปเซ็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือว่าประสบพบเจอกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในบ้านเกิดไต้หวัน ทำให้กำลังผลิตชิปเซ็ตลดลงไปเยอะมาก ๆ ส่งผลให้ตอนนี้ตลาดชิปประมวลผลทั่วโลกขาดตลาดเป็นอย่างหนัก ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น แต่ซัพพลายดันมีไม่พอ ล่าสุดพวกเขาก็เตรียมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย สำหรับใช้ผลิตชิปเซ็ตแล้ว
น้ำสะอาด ถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักในการสร้างชิปเซ็ตของ TSMC และบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อื่น ๆ ซึ่งพอไต้หวันเจอะเจอกับปรากฎการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 50 ปีในครั้งนี้ ทำให้ TSMC ต้องเจอกับปัญหาผลิตชิปไม่ทันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถหาน้ำสะอาดในปริมาณที่มากพอ มาผลิตชิปเซ็ตให้ทันความต้องการของลูกค้าได้นั่นเอง
โดยโรงงานบำบัดน้ำเสียที่ TSMC เตรียมสร้างขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำไม่พอใช้นั่น คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในช่วงปี 2024 และจะสามารถผลิตน้ำได้มากถึง 67,000 ตันต่อวัน (ความต้องการต่อวันอยู่ที่ 156,000 ตัน) ซึ่งในส่วนนี้ TSMC เคลมว่า โรงงานบำบัดน้ำเสียของพวกเขา จะเป็นแห่งแรกของโลกเลยที่ใช้เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียขั้นสูง
กลับมาที่เรื่องภัยแล้ง ตอนนี้รัฐบาลของไต้หวันได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจำกัด (หรือหยุดจ่ายน้ำไปเลย) การใช้งานน้ำสะอาดในบางพื้นที่ของหัวเมืองใหญ่ ๆ สัปดาห์ละสองวัน ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้โรงงานของ TSMC ได้รับผลกระทบไปแบบเต็ม ๆ แต่ก็ว่าอะไรไม่ได้ เพราะหากรัฐบาลยอมให้ TSMC ใช้ปริมาณน้ำแบบเต็ม ๆ ก็จะทำให้ประชาชนในไต้หวันบางกลุ่ม ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ปัจจุบัน TSMC ได้หันไปพึ่งพาบริการรถบรรทุกขนส่งน้ำสะอาด โรงกักเก็บน้ำ และน้ำบาดาลใต้พื้นดิน ในการแก้ไขปัญหาน้ำไม่พอใช้ของพวกเขา
ที่มา: Nikkei Asia
27/04/2021 03:24 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย