เปิดขายกันไปซักพักแล้วสำหรับมือถือซีรีส์เรือธงดีไซน์สวยสเปคสุดเทพของ Samsung อย่าง Galaxy S21 Series ซึ่งส่วนตัวผมก็ได้ถือลองใช้เจ้า Galaxy S21+ ตัวกลางมาเป็นเวลาเกือบๆ เดือนแล้ว เลยขอโอกาสมาเขียนรีวิวเล่าประสบการณ์การใช้งานให้ผู้อ่านได้ใช้ประกอบการตัดสินใจหรืออ่านเพลินๆ กัน ว่าสรุปแล้วตัวนี้เป็นไงบ้าง หรือว่าจะกัดฟันเพิ่มเงินอีกซักนิดซื้อตัว Ultra ไปเลย
ทราบกันอยู่แล้วว่า Samsung Galaxy S21+ รอบนี้จะไม่มีหูฟัง AKG และหัวชาร์จแถมมาให้ในกล่อง ทำให้แพคเกจกล่องจะบางกะทัดรัดมากๆ โดยภายในกล่อง จะมีเพียงแค่คู่มือกับเข็มจิ้มซิมมาให้เท่านั้น ไม่มีเคสใส ไม่มีหูฟัง ไม่มีหัวชาร์จ (สายชาร์จมีแถมมาเหมือนเดิมนะ)
แม้ว่าจะมีน้ำหนักถึง 200 กรัม แต่พอ Galaxy S21+ มาอยู่บนมือแล้วกลับรู้สึกว่ามันเบากว่าที่คิด ในส่วนนี้ต้องชม Samsung ว่าทำการบ้านมาดี กระจายน้ำหนักได้ลงตัวสุดๆ
โดย Galaxy S21+ ที่ผมได้มารีวิวครั้งนี้ จะเป็นสีม่วงตัดกับสีทอง Phantom Violet อันนี้ก็สวยงามสุดๆ โมดูลกล้องหลังเรียงกันเป็นแนวตั้ง 3 ตัว น่าสังเกตก็คือ ตัวกล้องหลังนั้นค่อนข้างนูนออกมาอย่างชัดเจน ความสูงเกือบๆ เท่าเหรียญบาทเลยทีเดียว
น่าเสียดายที่รอบนี้ Galaxy S21+ ให้ถาดซิมมาเป็นแบบ Double Slot ใส่ได้สองซิม ตัดถาดใส่ microSD Card ออกไปแล้ว ดังนั้นใครที่กำล้งเล็งๆ จะซื้อรุ่นนี้อยู่ ก็เลือกซื้อรุ่นที่หน่วยความจำเพียงพอกับการใช้งานของตัวเองนะครับ เพราะเพิ่มทีหลังไม่ได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว
ส่วนหน้าจอ Galaxy S21+ ยังให้มาเป็นแบบ Infitnity-O Display เหมือนกับมือถือเรือธงรุ่นอื่นๆ ของ Samsung และรอบนี้เหมือนว่าขอบจอจะบางลงกว่าเดิมเล็กน้อย
โดยรอบนี้ Galaxy S21+ มีกระจกนิรภัย Gorilla Glass Victus ตัวเทพจาก Corning ครอบมาให้ คือไม่ต้องติดฟิล์มกระจกก็ไม่เป็นอะไรอะในความคิดส่วนตัวของผมนะ แต่ก็ใครไม่สบายใจจริงๆ ก็ติดได้ ไม่ว่ากัน ซึ่งตัวเครื่องจะมีฟิล์มใสติดมาอยู่แล้วด้วย
Galaxy S21+ มาพร้อมกับหน้าจอ Dynamic AMOLED 2X ขนาด 6.7 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ และค่ารีเฟรชเรท 120Hz มีฟีเจอร์ Adaptive Refresh Rate ที่ตัวระบบจะคอยปรับให้อัตโนมัติตั้งแต่ 48Hz ถึง 120Hz ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ณ ตอนนั้นๆ
แต่เมื่อลองเช็คดูแล้ว เหมือนว่าระบบจะปรับไปมาแค่ 60Hz กับ 120Hz เท่านั้นนะ คือเปิดจอทิ้งไว้ (หรือเล่นเกมบางเกม) ก็เป็น 120Hz ดู YouTube หรืออ่านเว็บก็จะเป็น 60Hz ตอนแรกคิดว่าเปิด Always-On Display แล้วจะเป็น 48Hz ซะอีก ที่ไหนได้เปิดแล้วก็ยังเป็น 60Hz อยู่ อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนว่าตัวระบบมีการจัดการยังไง
เรื่องความสดและความเที่ยงตรงของสี ถือเป็นจุดเด่นของหน้าจอจาก Samsung แต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว โดยใน Galaxy S21+ สามารถเลือกปรับได้ว่าจะใช้โทนสีแบบไหน
นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกให้ปรับ White Balance ได้ตามใจชอบอีกต่างหาก ส่วนใครที่โปรจัดๆ ก็มีแบบ Advanced Settings ให้ปรับอีกด้วย
จอ Dynamic AMOLED 2X บน Galaxy S21+ สามารถดันค่าความสว่างได้สูงสุดถึง 1300 nits (เมื่อเปิด Auto Brightness) ดังนั้นไม่ต้องกลัวเลยว่าเอาไปใช้งานกลางแจ้งแล้วจอจะแสดงผลไม่ชัด
สิ่งที่หลายคนมองข้ามไปก็คือความลื่นไหลของ One UI 3.1 ของ Samsung ที่ช่วงหลังๆ ผมมองว่าน่าจะเป็น ROM ที่ลื่นไหลที่สุดของ Android แล้วล่ะ แถมฟีเจอร์ต่างๆ อย่าง Samsung DeX, Nearby Share หรือ Link to Windows (Your Phone) อะไรแบบนี้ก็ยังใส่มาให้แบบครบๆ
การแบ่งจอครึ่งบนครึ่งล่างก็ยังทำได้เหมือนเดิม ไม่มีปัญหา ใช้งานจริงไม่มีการกระตุก
หรือจะเปิดเป็นป๊อบอัพวิว อันนี้ก็ทำได้
ด้วยความที่มีดีกรีเป็นถึงมือถือระดับเรือธง ทำให้ Galaxy S21+ รองรับการเข้ารหัส Widevine แบบ L1 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ดู Netflix ได้ที่ความละเอียดสูงสุด Full HD อีกทั้งยังรองรับการแสดงผลแบบ HDR10 ด้วย
ซึ่ง HDR10 จะมีประโยชน์มากๆ เวลาดูคอนเทนต์ที่พื้นหลังมักจะเป็นตอนกลางคืนหรือสีดำเยอะๆ เพราะถ้าหน้าจออุปกรณ์ที่ใช้ไม่รองรับล่ะก็ เราแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนเป็นพื้นหลังดำหรือสีดำ คือ HDR10 มันจะทำให้เรามองภาพในที่มืดๆ ในหนังได้ชัดกว่าเดิมขึ้นอยู่พอสมควร
เมื่อเอา Galaxy S21+ ไปทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของ GPS กับแอป GPS Test ก็พบว่า Galaxy S21+ นั้นไม่มีปัญหาเรื่องเอาไปใช้งานพวกแอปนำทาง Google Maps อะไรแบบนี้เลย ความแม่นยำอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถไว้ใจได้ ทั้งความเร็วในการจับสัญญาณ จำนวนเดียวเทียมที่สามารถเกาะใช้งาน รวมถึงความแม่นยำในการระบุพิกัด
Galaxy S21+ สามารถใช้งาน 5G ได้ทุกเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น AIS, truemove H หรือ dtac (รออ้ปเดต Software) แต่ในส่วนนี้ซิมที่ใช้และพื้นที่ที่ใช้งานจะต้องมีสัญญาณ 5G ครอบคลุมด้วยนะครับ
ทั้งนี้ Galaxy S21+ สามารถใช้งาน Wi-Fi6 ได้นะครับ ซึ่งหากบ้านใครมี Router ที่ปล่อยสัญญาณนี้ได้ล่ะก็ บอกเลยว่าโคตรแรง
Galaxy S21+ ยังใช้เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบ Ultrasonic เหมือนเดิม แต่รอบนี้มีความพิเศษที่ตัวเซ็นเซอร์เป็นรุ่นใหม่ที่ Qualcomm เพิ่งเปิดตัวไปได้ซักพัก โดยจุดที่อัปเกรดขึ้นมาก็คือขนาดจะใหญ่กว่าเดิม 77% และสแกนเร็วขึ้น 50% …เอาล่ะ มาดูกันดีกว่าว่าสิ่งที่ Qualcomm เคลมมานั้นจะจริงหรือโม้ ฮ่าๆ
สรุปคือมันเร็วกว่าเดิมจริง เร็วมากกกก เร็วกว่ามือถือที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ Optical ซะอีก แบบกดไปนิดเดียว มันปลดล็อคให้แล้ว
ส่วนใครที่ไปติดฟิล์มกระจกหนาๆ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะสแกนนิ้วลำบาก (เพราะกระจกหนาขึ้น) เพราะในส่วนนี้วิธีแก้ง่ายๆ ก็คือไปเปิดใช้งานฟีเจอร์ Touch Sensitivity เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว โดยนอกจากจะช่วยให้ใช้งานกับฟิล์มหนาๆ ได้แล้ว ฟีเจอร์นี้ยังมีประโยชน์มากๆ สำหรับคนชอบใส่ถุงมือด้วย
อ้อ จุดเด่นอีกอย่างของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วแบบ Ultrasonic ก็คือ ต่อให้นิ้วเปียกแค่ไหน เราก็ยังจะสแกนนิ้วปลดล็อคได้อยู่ดี ไม่เหมือนแบบ Optical ที่ถ้านิ้วเปียกก็ใช้งานไม่ได้เลย ต้องไปเช็ดให้แห้งก่อน
ในเรื่องของชิปเซ็ต รอบนี้ถือว่า Galaxy S21+ ได้รับการอัปเกรดขึ้นมาจากชิปรุ่นเก่าๆ อยู่พอสมควร โดยรุ่นนี้จะขับเคลื่อนด้วยชิปเซ็ต Exynos 2100 ที่ผลิตบนสถาปัตยกรรมขนาด 5 นาโนเมตร และใช้ CPU แกนหลักเป็น Cortex-X1 ตัวแรงของ ARM และเมื่อนำไปทดสอบกับแอป Geekbench 5 ก็จะได้คะแนนตามรูปด้านล่างเลย
ส่วนการทดสอบหน่วยความจำกับแอป AndroBench ทาง Galaxy S21+ ก็จะทำคะแนนได้ตามนี้
ด้วยความที่ Galaxy S21+ ยังใช้หน่วยความจำแบบ UFS 3.1 อยู่ ทำให้ประสิทธิภาพในส่วนนี้ยังไม่ได้หนีเรือธงรุ่นก่อนหน้าอย่าง Galaxy Note 20 Ultra หรือ Galaxy S20 Ultra ซักเท่าไหร่นั่นเอง
ในเรื่องของการเล่นเกม Galaxy S21+ แทบจะไม่มีปัญหาเลย เพราะชิปเซ็ต Exynos 2100 ที่ใช้ก็มีฐานะเป็นถึงตัวเรือธงระดับไฮเอนด์ของ Samsung พูดง่ายๆ ก็คือ ปรับกราฟิกอะไรได้หมด เอาไปเล่น RoV หรือเกมโหดๆ อย่าง Genshin Impact ก็สบาย
ในส่วนของ Genshin Impact พอเล่นไปซักพักหากมีความร้อนสะสม จะเริ่มมีอาการกระตุกเล็กน้อยให้เห็นบ้าง แต่ก็ไม่ได้บ่อยจนถึงขนาดเป็นปัญหาใหญ่โตอะไรนะ
เอาล่ะ มาถึงเรื่องกล้องกันบ้าง ตรงนี้ต้องบอกว่าสเปคฮาร์ดแวร์กล้องหลังของ Galaxy S21+ นั้นเหมือนกับ Galaxy S21 รุ่นน้องหรือว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง Galaxy S20 และ S20+ แบบ 100% แต่ว่าเรื่องซอฟต์แวร์ ส่วนนี้เข้าใจว่า Samsung น่าจะมีการอัปเกรดอะไรเข้ามาเล็กน้อยในซีรีส์นี้
07/03/2021 12:50 PM
2014 © ปพลิเคชันไทย