กลับมาอีกครั้งกับการประกาศผล BE.S.T AWARD ซึ่งในปี 2020 นี้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายแบบหนักหนาสาหัสจริง ๆ แต่ตลาดสมาร์ทโฟนก็ยังคงเติบโตและแข่งขันกันอย่างดุเดือดต่อเนื่อง มีมือถือและแท็บเล็ตรุ่นใหม่ ๆ เปิดตัวออกมาเยอะมาก ๆ ไม่ต่างจากปีก่อน ๆ เลย แถมยังพัฒนามาอยู่ในจุดที่สูสีกันมากกว่าเดิม กว่าจะคัดเลือกมาได้แต่ละรุ่นทำเอาทีมงานปวดหัวเลยทีเดียว
ขอแจ้งไว้ก่อนนะครับว่าเราจะคัดเลือกเอาเฉพาะมือถือและแท็บเล็ตที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น และต้องมีการเปิดตัวหรือวางจำหน่ายก่อนเดือนธันวาคม เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมบางรุ่นถึงไม่ติดเข้ามาใน BE.S.T AWARD ด้วย
ครบเครื่องต้มยำมาก ๆ ในงบหมื่นกลาง ๆ กับฮาร์ดแวร์ระดับเรือธง ชิป Snapdragon 865, RAM 8GB LRDDR-5, ROM 256GB (หรือ 128GB) เรื่องความแรงการประมวลผลและความเร็วเขียน-อ่านข้อมูลจัดอยู่ในระดับท็อปคลาส จนเกิดคำถามที่ว่า “Xiaomi ไปเอากำไรมาจากไหน กับราคา (เริ่มต้น) 12,990 บาท ?”
Xiaomi ยัดแบตเตอรี่มาให้ Mi 10T Pro ที่ความจุ 5000mAh และรองรับชาร์จไว 33W ส่วนกล้องหลังทั้ง 3 ตัว ประกอบด้วย กล้องหลัก 108MP + กล้องอัลตร้าไวด์ 13MP + กล้องมาโคร 5MP ทำผลลัพธ์ออกมาได้สูสีกับสมาร์ทโฟนเรือธงหลาย ๆ รุ่นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบกันสั่นสำหรับงานวิดีโอที่ทำได้นิ่งกริ๊บ น่าประทับใจสุด ๆ และฟีเจอร์กับลูกเล่นต่าง ๆ ด้านการถ่ายภาพที่ให้มา คือ เยอะมาก~ จนแทบจะตาลาย ใช้งานกันเพลินสุด ๆ
สิ่งที่หลายคนบ่นกันในตอนแรกจะเป็นเรื่องหน้าจอขนาด 6.67 นิ้ว ซึ่ง Xiaomi เลือกใช้พาแนลชนิด IPS LCD แทนที่จะเป็น OLED …แต่พอประกาศค่าตัวออกมาแค่ 13,900 บาท (ในรุ่นเริ่มต้น) ก็ทำให้ใครต่อใครเปลี่ยนความคิดไปตาม ๆ กัน เพราะมันก็เป็นอะไรที่ “เหมาะสม” กับราคาดี แถมเอาเข้าจริง ๆ ก็เป็น IPS LCD ที่คุณภาพไม่ได้แย่เลย ใช้งานในสภาวะแสงในร่มพบความแตกต่างจาก OLED ได้น้อยมาก ๆ ทำได้ดีทั้งเรื่องความจัดจ้านของสีสันและความเที่ยงตรง อีกทั้งยังมีอัตรารีเฟรชที่สูงถึง 144Hz ด้วย
เรียกได้ว่า Mi 10T Pro แทบจะหาข้อติไม่เจอในช่วงราคาระดับนี้ จอสวย กล้องแจ่ม แบตอึด ชาร์จไว ชิปเรือธง ให้นิยามสั้นเลย คือ “คุ้มมาก” คว้าอันดับ 1 ในหมวดหมู่ BE.S.T VALUE SMARTPHONE AWARD ไปครองสบายแฮ
ถัดมากับสมาร์ทโฟนจากค่าย Samsung ที่มีกระแสตอบรับในช่วงเปิดตัวดีมาก ๆ สิ่งที่เป็นไฮไลต์ที่สุดคงหนีไม่พ้นชิป Snapdragon 865 ซึ่งสมาร์ทโฟนในซีรีส์ Galaxy S20 อื่น ๆ ที่เหลือ ล้วนแต่เป็นชิป Exynos 990 ทั้งหมด ซึ่งฝ่ายแรกนั้นจะทำได้ดีกว่าในแง่ของการบริหารจัดการพลังงานและเรื่องความร้อน แถมยังได้ความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G ในราคาที่ต้องจ่ายน้อยกว่า หากเทียบกับ Galaxy S20 Ultra 5G แล้ว ทั้ง 2 รุ่นจะมีค่าตัวห่างกัน 14,000 – 16,000 บาท เลยทีเดียว
จอภาพของ Galaxy S20 FE มีขนาด 6.5 นิ้ว พาแนล sAMOLED แบบ Infinity-O ความละเอียด Full HD+ และมีอัตรารีเฟรชอยู่ที่ 120Hz ซึ่งขึ้นชื่อว่า Samsung ก็เป็นการการันตีคุณภาพของหน้าจอแสดงผลในตัวอยู่แล้ว ดังนั้นคงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก สวยงามหายห่วงแน่นอน
ด้านกล้องหลัง Galaxy S20 FE มีด้วยกัน 3 ตัว คือ กล้องหลัก 12MP + กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP + กล้องเทเลโฟโต้ 5MP แม้กล้องตัวสุดท้ายจะมีความละเอียดที่น้อยกว่าพวกพี่ ๆ ทั้ง 3 รุ่นในซีรีส์เดียวกันก็จริง แต่ก็ยังสามารถซูมแบบออปติคอลได้ 3 เท่า และซูมแบบดิจิตอลได้ 30 เท่า ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ Galaxy S20 FE ติดชาร์ตมาเป็นอันดับ 2 ในหมวดหมู่นี้ เป็นเพราะความได้เปรียบด้านการอัปเดต OS ที่ยาวนานถึง 3 เวอร์ชั่น โดยสมาร์ทโฟนรุ่นนี้เปิดตัวมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 10 หมายความว่า จะได้รับการประกันการอัปเดตไปยาว ๆ ถึง Android 13 ในปี 2023 นู่นเลยทีเดียว ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในอนาคตและแพตช์ความปลอดภัยพ่วงมาด้วยแน่นอน น่าดึงดูดใจแบรนด์อื่น ๆ ซึ่งส่วนมากจะอัปเดตกันเต็มที่ไม่เกิน 2 ปีพอสมควร
อันที่จริงต้องบอกว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากพอดู กับอันดับ 1 อย่าง Mi 10T Pro และอันดับ 2 อย่าง Galaxy S20 FE สาเหตุหลักที่ฝ่ายหลังโดนหั่นคะแนนไปเป็นเพราะ…ความตะกุกตะกักด้านซอฟต์แวร์ อย่างเช่นปัญหาเรื่องการทัชหน้าจอ กว่าจะแก้ได้ก็ต้องรอกันจนเกือบหมดปี 2020 เจ้านี่จึงชวดอันดับ 1 ไปอย่างน่าเสียดาย
ครั้งสุดท้ายที่ OnePlus มีการเปิดตัวมือถือที่ไม่ใช่ระดับเรือธงนี่ต้องย้อนกันไปไกลถึง OnePlus X ในปี 2015 เลยทีเดียว และในที่สุดก็กลับมาอีกครั้งในปี 2020 กับ OnePlus Nord ที่มาพร้อมกับสโลแกนประจำตัวว่า “lite flagship” ซึ่งเป็นการนำชุดฮาร์ดแวร์จาก OnePlus 8 ที่เป็นรุ่นเรือธงมาปรับแต่งใหม่ แล้วเคาะราคาออกมาแบบแทบจะหารครึ่ง
OnePlus Nord ไม่ได้มีวัสดุเกรดพรีเมี่ยมแบบเดียวกับรุ่นพี่ก็จริง แต่เรื่องประสบการณ์การใช้งาน รวม ๆ แล้วแทบไม่แตกต่างกันเลย ทำได้ดีสมกับเป็น OnePlus มาก ๆ พวกฟีเจอร์หรือลูกเล่นภายในเองก็ไม่ได้ถูกตัดออก ปุ่ม alert slider ที่ด้านข้างอันเป็นเอกลักษณ์ก็มีมาให้อยู่เหมือนเดิม อันนี้คนชอบกันมาก ปรับโฟรไฟล์เสียงได้โดยตรง สะดวกสุด ๆ
หน้าจอ AMOLED ขนาด 6.44 นิ้ว เป็นขนาดที่ใช้งานได้ดีแบบเหมาะมือมาก ๆ แสดงผลได้ลื่นไหล 90Hz จุดที่ทำได้โดดเด่นเหนือคู่แข่งในเซกเมนต์เดียวกัน คือ ความเที่ยงตรงของสีสัน แถมเรายังเลือกปรับได้ระหว่าง sRGB กับ DCI-P3 อีก แค่นี้ก็ครอบคลุมคอนเทนต์แทบทุกอย่างแล้ว ส่วนกล้องหลังก็ให้มาเยอะถึง 4 ตัว ความลุเอียดสูงสุด 48MP คุณภาพหวังผลได้เลย OnePlus Nord จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ไม่เลว สำหรับใครที่อยากได้สมาร์ทโฟนราคาคุ้มสักรุ่น
realme X7 Pro 5G เป็นรุ่นที่ชวดรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย เพราะกว่าจะนำมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยก็ปาไปจะหมดปี 2020 อยู่แล้ว ถ้ามาเร็วกว่านี้อีกสักหน่อยล่ะก็…ไปเบียดกับพวกด้านบนนี้ได้สบาย ๆ เลย
ด้วยคุณภาพของชุดเซนเซอร์ที่เหลือล้น ผสานกับความครบเครื่องของช่วงเลนส์ ทำให้ Galaxy Note 20 Ultra ตอบโจทย์การถ่ายภาพทุกระยะ สีสันบนภาพพรีวิวบนหน้าจอ ทั้งก่อนและหลังกดชัตเตอร์ให้ผลลัพธ์ที่ตรงกัน ระบบกันสั่นที่ทำงานได้ดี อย่างเช่น เวลาถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ ต่อให้มือเราสั่น แต่ภาพบนหน้าจอก็จะไม่ค่อยสั่นตาม ทำให้เล็งเฟรมเพื่อจัดองค์ประกอบได้ง่าย ต่อให้เป็นผู้ที่ไม่ได้มีความชำนาญก็ถ่ายรูปได้อย่างง่ายดาย ยูซเซอร์เฟรนด์ลี่มาก ๆ และภาพจากเลนส์อัลตร้าไวด์ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ด้วย
กล้องของ iPhone พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาก ๆ ในช่วง 1-2 ปีหลัง Apple ได้ยกระดับคุณภาพการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอบนสมาร์ทโฟนของตัวเองให้ขึ้นมาอยู่หัวแถวได้อย่างเต็มภาคภูมิแบบไร้ข้อกังขา ชุดกล้อง เซนเซอร์ AI ไม่ได้เป็นรองฝั่ง Android แล้ว เรื่องการละลายฉากหลังในโหมดพอร์เทรตที่ไม่แม่นยำก็ถูกแก้ไขแล้ว (แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็เถอะ) ด้วยเซนเซอร์ LiDAR สำหรับตรวจจับความลึกเข้ามา เสริมด้วยไฟล์ภาพชนิดใหม่อย่าง Apple ProRAW ซึ่งบรรดาโปรซูเมอร์ที่ชอบแต่งภาพต่างร้องว้าว และอาจกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนเลยก็ได้
ด้วยอานิสงส์ของเซนเซอร์ภาพ IMX689 ที่ได้รับการปรับแต่งมาโดยเฉพาะจาก Sony ส่งผลให้ Find X2 Pro ทำผลลัพธ์ออกมาได้ดีมาก ๆ ทั้งความคมชัด โทนสี ไดนามิกเรนจ์ ออโต้โฟกัส การถ่ายกลางคืน และการถ่ายพอร์เทรต ทำเอารอบนี้ลบภาพจำกล้องบิวตี้ฟรุ้งฟริ๊งของ OPPO ไปเลย พร้อมกับชุดกล้องที่มีครบทุกระยะ โหมดกลางคืนก็ทำได้ดีแม้แสงจะน้อย
ส่วนผู้ที่พลาดหวังไปในปีนี้อย่าง Huawei Mate 40 Pro นั้นกล้องเทพจริง แต่ดูเหมือน HUAWEI ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหา color cast ได้อย่างเด็ดขาด ในหลาย ๆ ครั้งที่ถ่ายออกมาภาพอาจยังมีสีสันที่ไม่โดนใจเท่าไหร่ ซึ่งแฟน ๆ HUAWEI หลายคนก็บ่นเรื่องนี้กันมาเยอะ
จุดเด่นของ iPhone ที่ทำได้ดีเสมอมาในงานวิดีโอก็คือ ความง่ายในการถ่าย และใน iPhone 12 Pro Max ก็ยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี และด้วยไดนามิกเรนจ์ที่กว้างมาก ๆ เก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนทั้งส่วนมืดและส่วนสว่าง ยิ่งเปิดฟีเจอร์ HDR ก็ยิ่งโหดเหนือคู่แข่งรายอื่น ๆ ทำให้สมาร์ทโฟนจาก Apple มาวิน คว้าอันดับ 1 ในหมวดหมู่นี้ไปอย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่นัก
สมาร์ทโฟจาก Samsung มีจุดแข็งด้านไมโครโฟนที่บันทึกเสียงได้ดี แน่นอนว่า Galaxy Note 20 Ultra ในปีนี้เองก็เช่นกัน การเรนเดอร์สีสัน การวัดระดับความสว่าง และระบบกันสั่นล้วนทำงานได้อย่างดีเยี่ยม แต่ถูกหักคะแนนในเรื่องของระบบออโต้โฟกัสที่วืดวาดอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ชวดอันดับ 1 ไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
ประสิทธิภาพการกันสั่นจากกล้อง Gimbal ไม่ทำให้ผิดหวัง ในขณะที่ระบบกันสั่นของสมาร์ทโฟนทั่วไปทำงานได้แค่ 2 แกน แต่กล้องของ Vivo X50 Pro ทำงานได้ถึง 5 แกน แนวตั้ง แนวนอน แนวทแยง ได้หมดทุกทิศทาง หากปรับปรุงเรื่องไดนามิกเรนจ์ที่จำกัดกับเพิ่มความคมชัดให้มากอีกนิดก็คงจะแจ่มไม่น้อย
คงไม่ต้องพูดกันให้มากความ กับแบตเตอรี่ความจุมหึมา 7000mAh แถมจอภาพยังเป็นพาแนล sAMOLED ที่บริโภคพลังงานน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอีก จึงทำให้ได้เปรียบในเรื่อง screen-on time ด้วย ซึ่งเราอาจเห็นผู้ผลิตหลาย ๆ รายเคลมว่า สมาร์ทโฟนของตัวเองใช้งานได้ 2 วันก็จริง แต่โดยมากแล้วจะเป็นการใช้งานในเงื่อนไขที่จำกัด แต่ไม่ใช่กับ Galaxy M51 ผู้ชนะเลิศของเราในปีนี้ เพราะเจ้านี่ใช้งานแบบปกติก็อยู่ข้ามวันได้แบบชิล ๆ จริง ๆ ไม่ต้องอาศัยโหมดประหยัดพลังงานหรืออะไรเลย แบตอึดเป็นบ้าเป็นหลังเลยล่ะครับ
ถัดมาก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟนของ Samsung อีก กับ Galaxy A42 5G ที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 5000mAh นั่นเอง ซึ่งก็ทำได้ดีเช่นเดียวกับ Galaxy M 51 เพียงแต่อายุการใช้งานก็จะลดหลั่นลงมาตามความจุของแบตเตอรี่ที่มีน้อยกว่า
POCO M3 มีแบตเตอรี่ 6000mAh ความจุเป็นรองอันดับ 1 อย่างสเต็ปหนึ่ง จุดแข็งคือ สามารถสแตนด์บายได้นานมาก ๆ แต่เนื่องด้วยหน้าจอเป็นพาแนล IPS LCD จึงเสียเปรียบเรื่อง screen-on time ครับ แต่ถึงอย่างนั้นก็คว้าอันดับ 3 ไปครอง
ตามที่เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ว่า สิ่งที่สร้างความประทับใจได้มากที่สุดของ Xperia 5 II คือ ขนาดตัวเครื่องที่พอดีมือมาก ๆ และเนื่องด้วยเฟรมเครื่องจะแบบโค้งมนจึงทำให้จับถือได้เข้ามือสุด ๆ ทุกอย่างมันดูลงตัวไปหมด เราสามารถเอื้อมนิ้วโป้งไปยังสุดขอบจออีกฝั่งได้แบบไม่ต้องเกร็ง แต่ถึงเครื่องจะเล็กอย่างนั้นพื้นที่การใช้งานก็ยังมีมากอยู่ดี เพราะจอภาพเป็นสัดส่วนแบบ 21:9 ด้านยาวจึงมาก ยังคงเสพคอนเทนต์แบบฟิน ๆ ได้อยู่
ด้านชิปประมวลผลเป็นระดับไฮเอนด์ Snapdragon 865 พ่วงด้วยโมเด็ม X55 เพื่อเสริมคุณสมบัติ 5G มีกล้อง 3 ตัว พร้อมเลนส์ ZEISS T* คุณภาพสูง ลำโพงคู่สเตอรีโอ แจ็กหูฟัง 3.5 มม. หรือแม้กระทั่งไฟ LED แสดงสถานะ ซึ่ง 2 อย่างหลังเนี่ย เป็นสิ่งที่สมาร์ทโฟนเรือธงค่ายอื่นมักจะตัดทิ้งไปในช่วงหลัง แต่สมาร์ทโฟนของ Sony มีใส่มาให้แบบครบ ๆ เลยล่ะครับ แถมแบตอึดอีกด้วย เป็นสมาร์ทโฟนขนาดกะทัดรัดที่แจ่มสุด ๆ ของปีนี้
ถ้าดูกันที่เรื่องขนาดอย่างเดียวแล้วล่ะก็ สมาร์ทโฟนที่จิ๋วที่สุดก็คือ iPhone 12 mini รุ่นนี้นี่เอง พกพาสะดวก หยิบใส่กระเป๋าเสื้อหรือกางเกงก็ไม่รู้สึกเกะกะเลย จอภาพได้รับการอัปเกรดขึ้นมาเป็น OLED แล้ว สวยงามสุด ๆ ส่วนชิปเป็น A14 Bionic แรงทะลุโลก เช่นเดียวกับ iPhone 12 รุ่นอื่น ๆ ในซีรีส์ …แต่ดูเหมือน Apple ยังต้องทำการบ้านเพิ่มเติมเล็กน้อยในส่วนของแบตเตอรี่และปัญหาเรื่องความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเปิดใช้งาน 5G นี่ไหลเป็นน้ำก๊อกเปิดทิ้งเลยทีเดียว
อาจไม่ได้เล็กจนเรียกขนาดมินิได้ก็จริง แต่หากเทียบกับค่าเฉลี่ยขนาดของสมาร์ทในปีหลัง ๆ ก็ยังพอถือว่า “เล็ก” ได้อยู่ กับขนาดหน้าจอ 6.1 นิ้ว ยังคงใช้งานมือเดียวได้ไม่ยากเย็น ฮาร์ดแวร์ทุกอย่างที่ให้มาก็เป็นระดับเรือธง รวมถึงฟีเจอร์ก็ใส่มาครบเช่นกัน Galaxy S20 จาก Samsung จึงเป็นอีกตัวเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว สำหรับคนชอบมือถือที่พกพาสะดวกและน้ำหนักเบา
สมาร์ทโฟนสายเกมมิ่งที่ครบเครื่องที่สุดในปีนี้ คือ ROG Phone 3 จาก ASUS อย่างไร้ข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น ฟีเจอร์เยอะสุด อุปกรณ์เสริมมากสุด ฮาร์ดแวร์โหดสุด ระบบระบายความร้อนก็เยี่ยม …และราคาแพงสุดด้วย (ฮา) และนอกจากจะตอบสนองด้านการเล่นเกมได้อย่างโดดเด่นสุด ๆ แล้ว ด้านมัลติมีเดียเองก็ทำได้ดีอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะทั้งจอภาพและลำโพงของ ROG Phone 3 นั้นมีคุณภาพดีมากในระดับเรือธงเลย ติดแค่อย่างเดียวจริง ๆ คือ เครื่องหนัก… 240 กรัม ไม่รวมอุปกรณ์เสริมทั้งหลายแหล่ ถึงจะเอาไปเทียบกับมือถือเกมมิ่งด้วยกันก็หนักกว่าชาวบ้านอยู่ดี
มือถือจาก Lenovo รุ่นนี้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในตอนเปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศจีน เพราะมีฮาร์ดแวร์เป็นรอง ROG Phone 3 แค่จิ๊ดเดียว แต่ราคาถูกกว่ากันเกือบครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งเมื่อเดินทางมาวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้วก็ยังมีค่าตัวที่ห่างจากสมาร์ทโฟนจาก ASUS มากอยู่ดี (เทียบตัวท็อป Snapdragon 865+) จึงทำเอาหลายคนคิดหนัก ทำใจเลือกลำบากมากทีเดียว โดย Legion Phone Duel จะมีกล้องเซลฟี่แบบ pop-up ด้านข้างเครื่องเป็นจุดเด่น เหมาะสำหรับเกมแคสเตอร์หรือสตรีมเมอร์ผู้ชื่นชอบการไลฟ์เป็นอย่างมาก ส่วนสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ไม่มีอุปกรณ์เสริมให้ต่อพ่วง
ช่วงหลังมานี้ nubia อาจดูเงียบ ๆ เหงา ๆ แต่ในปีนี้ก็ยังส่ง Red Magic 5S ติดโผมากับเค้าด้วยเหมือนกัน เจ้านี่เป็นรุ่นอัปเกรดจาก Red Magic 5G แม้จะยังเป็นชิป Snapdragon 865 เหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือ ระบบระบายความร้อนใหม่ ใช้วัสดุชุบเงินแทนทองแดง พร้อมทั้งขยายขนาดของพัดลมภายในให้ใหญ่ขึ้น เล่นไปด้วย ชาร์จไปด้วย เครื่องก็ไม่ร้อน ควบคุมอุณหภูมิได้อยู่หมัด
นอกจากเรื่องค่าตัวที่แพงแล้ว ข้อเสียที่เด่นชัดเท่าที่จะนึกออกคงมีแค่ แบตเตอรี่ไม่อึดอย่างที่ควรจะเป็นในการใช้งาน 5G รวมถึงการชาร์จที่ช้ากว่าคู่แข่งเท่านั้นเอง สำหรับ iPhone 12 Pro Max แล้ว ด้านอื่น ๆ แทบไร้ที่ติ จอสวย ลำโพงเสียงดี ชิปแรง กล้องแจ่ม ได้รับการอัปเดตเป็นเวลานาน บริการหลังการขายที่มีมาตรฐาน อีกทั้งยังรองรับ 5G ครอบคลุมที่สุดอีกต่างหาก ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้นี่แหละครับ ที่ไปหักล้างกับข้อสงสัยที่ว่า “ทำไมสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ถึงได้มีราคาสูงนัก ?”
มี Apple ก็ต้องมี Samsung ซึ่งก็เป็นคู่แข่งที่ฟัดกันอย่างสมน้ำสมเนื้อมาตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะโดน iPhone 12 Pro Max เบียดแย่งบัลลังก์อันดับ 1 สมาร์ทโฟนแห่งปีไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความจริงที่ว่า “Galaxy Note 20 Ultra เป็นมือถือฝั่ง Android ที่เจ๋งรอบด้าน” ถูกลดทอนคุณค่าลงแต่อย่างใด แถมยังมีปากกาสุดเทพ S Pen ที่หาไม่ได้จากสมาร์ทโฟนรุ่นไหนอีกด้วย สาเหตุที่พลาดท่าพ่ายให้กับ iPhone ไปนั้นมีเรื่องเดียวคือแบตไหลที่ยังแก้ไม่หายสักที
ในตอนนี้ OnePlus ได้ยกระดับตัวเองขึ้นมาจาก flagship killer มาเป็น super flagship แล้ว ซึ่ง OnePlus 8 Pro เองก็จัดเป็นสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้หลากหลายมากที่สุดรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะ Oxygen OS ที่ขึ้นชื่อเรื่องการตอบสนองที่ลื่นไหลแบบสุดขีด เป็นสิ่งที่สร้างข้อได้เปรียบให้แก่สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ เพราะฮาร์ดแวร์ระดับท็อปเนี่ย เราหาได้ทั่วไป พบเห็นได้ทั่วไป แต่ซอฟต์แวร์ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างประณีตนั้นไม่ใช่ใครก็ทำได้
แม้ว่า Galaxy Fold รุ่นแรกจะได้รับคำชมในหลาย ๆ อย่าง แต่เสียงติและจุดที่ยังต้องแก้ไขก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งในปีนี้ Samsung ก็ได้นำเอาผลตอบรับและข้อผิดพลาดจากรุ่นก่อนมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ Galaxy Z Fold 2 เข้าใกล้มือถือจอพับในอุดมคติอย่างที่ควรจะเป็น อาทิ เพิ่มความทนทานของกลไกบานพับ เพิ่มความแข็งแกร่งของหน้าจอ ปรับแต่งอินเทอร์เฟซให้เหมาะสมกับจอภาพ ลดรอยบุ๋มตรงกึ่งกลาง เป็นต้น
หาก Galaxy Z Fold 2 เป็นมือถือจอพับที่เน้นด้านฟังก์ชั่นการใช้งานแล้ว Galaxy Z Flip ก็คงจะโดดเด่นในเรื่องความพรีเมียมและขนาดที่กะทัดรัด บ้างก็ว่า เป็นมือถือแฟชั่น เพราะมีตัวเครื่องที่สวยงาม แถมยังดูคล้ายตลับแป้งตอนที่พับอยู่อีกด้วย
moto RAZR 5G เป็นการอัปเกรดจากรุ่นก่อนหน้าที่เปิดตัวในปี 2019 ผสมผสานระหว่างความเป็นตำนานของมือถือฝาพับกับเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันได้อย่างลงตัว แต่ก็ยังติดขัดอยู่บ้างในเรื่องของวัสดุและความทนทาน รวมถึงฮาร์ดแวร์ที่ใส่มาให้ไม่ใช่ระดับไฮเอนด์ ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าตัวที่ค่อนข้างสูง หลายคนจึงตั้งข้อสังเกตในส่วนนี้
นอกจากนี้ก็ยังมีสมาร์ทโฟนหน้าจอหมุนอย่าง LG WING ที่มาพร้อมกับแนวคิดและดีไซน์สุดล้ำ ซึ่ง LG ก็บอกเองว่า บริษัทต้องการผลิตมือถือที่ฉีกออกไปจากกรอบเดิม ๆ ให้มากขึ้น ส่วนฝั่ง Microsoft ก็ลงมาลุยตลาด Android ด้วยตัวเองกับเค้าบ้างแล้ว ด้วย Surface Duo สมาร์ทโฟนหน้าจอคู่ สามารถปรับโหมดการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมาก ๆ คือถ้าเข้ามาขายในไทยเนี่ย ติดอันดับ 2 ได้เหรียญเงินไปแล้วอะ
เพื่อน ๆ คงจะเห็นได้ว่า ในปี 2020 นี้ มีสมาร์ทโฟนแปลก ๆ ล้ำ ๆ ออกมาหลายรุ่นมาก ๆ แต่ที่เห็นผ่านตากันเยอะที่สุดก็คงจะเป็นจำพวกจอพับนี่แหละครับ (ฝั่งโน้ตบุ๊กก็มีเหมือนกัน) เพราะตอนนี้ดูจะมีความพร้อมมากกว่าแบบอื่น ๆ ปีหน้าเทรนด์นี้มาแรงแน่นอน
31/12/2020 12:39 PM
2014 © ปพลิเคชันไทย