วิเคราะห์ดีแทค 5G ไม่ประมูลหวือหวา ลงทุนแบบรัดกุม สร้างเกมของตัวเองขึ้นใหม่ - Android

Get it on Google Play

วิเคราะห์ดีแทค 5G ไม่ประมูลหวือหวา ลงทุนแบบรัดกุม สร้างเกมของตัวเองขึ้นใหม่ - Android

หลังการประมูลคลื่น 5G ลอตใหญ่ที่ผ่านมา เราได้เห็นการช่วงชิงคลื่นจากค่ายต่างๆ กวาดความถี่เข้าพอร์ตกันไปเป็นจำนวนมาก ค่ายนึงที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูที่สุดก็คงไม่พ้นดีแทค ที่เข้าประมูลเพียงคลื่น 26GHz และได้มาเพียง 2 ใบอนุญาต หรือ 200 MHz เท่านั้น นี่เป็นความไม่มั่นใจในการลงทุน หรือมันเป็นกลยุทธ์ระยะยาวของเค้ากันแน่ หลังคิดตกผลึกมานาน เลยขอมาเล่าให้เพื่อนๆได้อ่านกันครับ  dtac จำเป็นต้องมีคลื่นในมือเยอะแค่ไหน? สิ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานหล่นวูบหลังการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมา คือ จำนวนคลื่นที่ดีแทคถือครองอยู่ดูน้อยกว่าคู่แข่งแบบเทียบกันไม่ได้ ดังที่เราก็เห็นจากกราฟข้างต้นนี้ แต่สิ่งที่ทางดีแทคพยายามย้ำมาโดยตลอดหลังการประมูล คือ “คลื่นของเค้าเพียงพอกับการให้บริการแล้ว” อะไรทำให้ทางดีแทคพูดแบบนั้น? จากกราฟข้างต้นนี้ […]

หลังการประมูลคลื่น 5G ลอตใหญ่ที่ผ่านมา เราได้เห็นการช่วงชิงคลื่นจากค่ายต่างๆ กวาดความถี่เข้าพอร์ตกันไปเป็นจำนวนมาก ค่ายนึงที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูที่สุดก็คงไม่พ้นดีแทค ที่เข้าประมูลเพียงคลื่น 26GHz และได้มาเพียง 2 ใบอนุญาต หรือ 200 MHz เท่านั้น นี่เป็นความไม่มั่นใจในการลงทุน หรือมันเป็นกลยุทธ์ระยะยาวของเค้ากันแน่ หลังคิดตกผลึกมานาน เลยขอมาเล่าให้เพื่อนๆได้อ่านกันครับ 

dtac จำเป็นต้องมีคลื่นในมือเยอะแค่ไหน?

สิ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานหล่นวูบหลังการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมา คือ จำนวนคลื่นที่ดีแทคถือครองอยู่ดูน้อยกว่าคู่แข่งแบบเทียบกันไม่ได้ ดังที่เราก็เห็นจากกราฟข้างต้นนี้ แต่สิ่งที่ทางดีแทคพยายามย้ำมาโดยตลอดหลังการประมูล คือ “คลื่นของเค้าเพียงพอกับการให้บริการแล้ว” อะไรทำให้ทางดีแทคพูดแบบนั้น?

จากกราฟข้างต้นนี้ เราอาจตัดคลื่น mmWave 26GHz (High Band) ออกไปก่อนได้ ด้วยความที่คลื่นมีระยะสัญญาณที่ค่อนข้างแคบ และอ่อนไหวมาก เจออะไรมาบังนิดหน่อยก็อาจจะสัญญาณหายได้เลย แต่จะมีข้อดีคือทำความเร็วได้สูงและมีจำนวนแบนด์วิธที่เยอะ ซึ่งก็ยังไม่ข้อดีนี้จะยังไม่พอให้ค่ายต่างๆนำเอาไปพัฒนาเพื่อให้บริการสำหรับสมาร์ทโฟนเท่าไหร่ รวมถึงหารุ่นที่รองรับได้น้อยมาก (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลื่น Band ต่างๆได้จากลิงก์ด้านล่างนี้)

เรื่องเล่า 5G | คลื่นไหน n อะไร, Low – Mid – High Band ต่างกันอย่างไร?

ด้วยความที่คลื่น High Band มีจำนวน Bandwidth ที่กว้างมาก (AIS มีถึง 1200 MHz และ True มีอยู่ 800 MHz) เมื่อนำเอาจำนวนส่วนนี้ออกแล้วและคิดคำนวนใหม่จะเห็นว่าจำนวนคลื่นของแต่ละค่ายมีความต่างที่น้อยลงมาก ซึ่งความแตกต่างจุดนี้เองที่เป็นส่วนที่ทำให้คนเข้าใจผิดกันเยอะ คิดว่าคลื่นของดีแทคมีจำนวนที่น้อย จนไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจ 5G ได้ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ถึงกับคอขาดบาดตาย และคลื่นช่วง Mid – High Band นี้ไม่ได้ขาดแคลน และต้องแย่งชิงกันหนัก ยังมีคลื่นอื่นที่ทดแทนกันได้อยู่ ซึ่งจะกล่าวถึงอีกทีในช่วงท้ายของบทความนะครับ

จำนวนคลื่นเมื่อตัดคลื่นย่าน High Band ออก แต่ละค่ายจะมีคลื่นอยู่ในมือ ดังนี้

  • AIS | Low (50) + Mid (200) รวม 250 MHz
  • True | Low (70) + Mid (150) รวม 220 MHz
  • dtac | Low (30) + Mid (100) รวม 130 MHz

อย่างไรก็ดีเมื่อตัดเอาคลื่น High Band ออกไป จำนวนคลื่นที่ดีแทคใช้ให้บริการอยู่มันก็ยังดูน้อยกว่าคู่แข่งไม่น้อย แบบนี้ที่ดีแทคบอกว่าเพียงพอ มันจะจริงมั้ย เดี๋ยวเรามาดูกันต่อ

ค่ายอื่นจำเป็นต้องมีคลื่นมากด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่มากกว่า

สิ่งที่ทำให้เครือข่ายสามารถให้บริการได้ดีขึ้น จำนวนคลื่นที่ถือครองถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ ถ้าเปรียบว่าผู้ใช้บริการเป็นคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แล้วคลื่นเป็นเหมือนแหล่งน้ำที่ส่งจ่ายเข้าไปในหมู่บ้าน หากว่ามีคนในหมู่บ้านเยอะ น้ำที่ผลิตออกมาก็ต้องเยอะตาม ซึ่งหมายถึงแหล่งน้ำที่ต้องมีมากเพียงพอ หรือนั่นก็คือคลื่นความถี่นั่นเอง หากผู้ให้บริการไม่มีคลื่นที่มากพอ ก็เหมือนหมู่บ้านที่ไม่มีแหล่งน้ำผลิตจ่ายเข้าไปตามบ้านได้ตามความต้องการ ความแรงก็จะมาแบบกระปริบกระปรอย ดาวน์โหลดไม่ขึ้น อัพโหลดไม่ไปนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้นทุกที ดังนั้นค่ายที่ยิ่งมีลูกค้าเยอะ ก็ยิ่งต้องมีคลื่นที่มาขึ้นตามลำดับ

ตารางแสดงจำนวนคลื่นที่ถือครองต่อจำนวนผู้ใช้

จำนวนผู้ใช้ (ล้านราย)4230.620.6
BandAISTruemoveDtac
Low Band700302020
85030
900202010
Mid Band1800403010
2100603030
230060
260010090
Sub Total250220130
สัดส่วนต่อจำนวนผู้ใช้5.957.196.31
High Band*26GHz1200800200
Total14501020330

 

ตารางข้างต้นนี้เราได้รวบรวมข้อมูลของจำนวนคลื่นที่แต่ละเครือข่ายถือครองเอาไว้ แล้วนำเอามาหารจำนวนลูกค้าที่มี (หน่วย : ล้านราย) เพื่อหาว่าผู้ให้บริการเครือข่ายมีคลื่นเท่าไหร่ต่อการรองรับลูกค้า 1 ล้านราย ซึ่งแปลค่าออกมาได้ประมาณนี้

  • AIS แม้ว่าจะมีคลื่นที่เยอะที่สุด แต่เมื่อนำมาคำนวนแล้วยังถือว่ามีจำนวนคลื่นต่อผู้ใช้ ที่น้อยที่สุดอยู่ที่ 5.95 MHz ต่อจำนวนผู้ใช้ 1 ล้านราย ซึ่งเป็นสาเหตุว่าก่อนหน้านี้ทำไมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่แอดอัด เอไอเอสอาจทำความเร็วได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่หลังจากการมาของคลื่น 2600MHz ก็น่าจะทำให้คุณภาพเครือข่ายโดนรวมดีขึ้นตามไปด้วย
  • Truemove มีจำนวนคลื่นต่อจำนวนผู้ใช้งานที่สูงที่สุดในบรรดา 3 ค่ายที่ 7.19 MHz ต่อจำนวนผู้ใช้ 1 ล้านราย มีจำนวนแบด์วิธรวมที่มาถึง 220 MHz ทำให้ได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดี เล่นเน็ตได้อย่างลื่นไหล มีประสิทธิภาพ
  • Dtac แม้ว่าภาพรวมจะดูมีจำนวนคลื่นที่น้อยกว่า AIS และ True เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ผู้ใช้มีจำนวนเพียง 20.6 ล้านราย ทำให้จำนวนคลื่นต่อจำนวนผู้ใช้งานไม่ได้น้อย ที่ 6.31 MHz ต่อผู้ใช้ 1 ล้านราย หากทางดีแทคต้องการเพิ่มคุณภาพสัญญาณ การเอาคลื่นมาเพิ่มก็อาจจะไม่ใช้คำตอบนัก

ข้อควรรู้

  • ข้อมูลชุดนี้ไม่นำเอาคลื่น mmWave หรือ High Band มาคิดเนื่องจากเราจะโฟกัสไปที่เรื่องคลื่นสำหรับสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ที่ปัจจุบันแทบไม่มีรุ่นที่ทำมารองรับ mmWave ด้วยความที่ระยะสัญญาณแคบมาก เพียง 200 – 300 เมตรเท่านั้น และคลื่นมีความอ่อนไหวสูง ทำให้โดยมากถูกนำมาไปบริการด้านอื่น เช่น FWA (Fixed Wireless Access) แทน

ปริมาณคลื่นไม่ได้สะท้อนคุณภาพและความครอบคลุมของสัญญาณ

อ่านถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะเริ่มคิดว่าแบบนี้ True ก็น่าจะเป็นเครือข่ายที่ดีที่สุดรึเปล่า เพราะมีคลื่นความถี่ต่อจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วปริมาณคลื่นที่ถือครองอยู่ไม่สะท้อนถึงความครอบคลุม และคุณภาพของสัญญาณ เพราะแม้จะมีคลื่นความถี่ในมือเยอะ แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้อย่างเราๆ พึงพอใจก็คือ ความเร็วของการใช้งานที่เพียงพอ และการครอบคลุมที่ไปกับเราได้ทุกที่ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสองสิ่งนี้ขึ้นมาก็คือ “จำนวนสถานีฐาน”

  • AIS แม้ว่าสัดส่วนจำนวนคลื่นจะน้อยกว่าค่ายอื่น แต่ก็มีการตั้งสถานีฐานที่น่าจะมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีข้อมูลระบุว่ามีสถานีฐานเฉพาะ 4G (1800 MHz) มากถึง 75,000 สถานีฐาน
  • dtac ที่แม้ว่าคลื่นจะเพียงพอ แต่ปัญหาหลักที่มีในปัจจุบันก็คือความครอบคลุมของสัญญาณ ที่เกิดจากการของคลื่นย่าน Low Band รวมถึงจำนวนเสาที่น้อยกว่า โดยมีการเปิดเผยว่าสถานีฐาน 4G ของดีแทคในปัจจุบันมีอยู่ราว 50,000 สถานี โดยใช้คลื่น 2100 และ 2300 MHz เป็นหลัก ซึ่งหากต้องการทำให้ครอบคลุมเทียบเท่า AIS ด้วยสองคลื่นนี้ dtac น่าจะต้องลงเสาในปริมาณที่มากกว่า AIS เพราะคลื่น 1800 MHz ที่ AIS ใช้มีระยะสัญญาณที่ไกลกว่า dtac เล็กน้อยนั่นเอง
  • Truemove เป็นค่ายที่มีการเปิดเผยถึงจำนวนสถานีฐานน้อยมาก ส่วนมากที่มีเผยแพร่จะเป็นตัวเลขที่เก่าหรือข้อมูลไม่ครบ เพราะทรูมีการแชร์เสากับ CAT และมีกองทุนพัฒนาเครือข่ายทำเสาขึ้นมาให้ทาง True เช่าด้วยอีกต่อ จึงทำให้ติดตามตัวเลขได้ยาก

เพราะประสบการณ์ สำคัญกว่าเทคโนโลยี

ดีแทคเป็นค่ายเดียวในสามค่ายใหญ่ที่เลือกจะไม่เข้าประมูลคลื่น 5G | 2600 MHz โดยเหตุผลที่ทางดีแทคให้เอาไว้คือทางค่ายมีคลื่น Mid Band อย่าง 2300 MHz ให้บริการแล้วถึง 60 MHz เมื่อรวมกับคลื่น 2100 MHz และ 1800 MHz ที่มีอยู่ ทำให้ทางดีแทคมองว่าการจะนำเอาคลื่น 2600 MHz มาอีกนั้นไม่เป็นการตอบโจทย์ปัญหาหลักอย่างความครอบคลุมได้เลย ดังนั้นดีแทคจึงเร่งโฟกัสรีบแก้ไขปัญหาความครอบคลุมก่อนด้วยการเพิ่มเสาสัญญาณ 4G | 2300 MHz ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น แทนที่จะรีบลงทุนสร้างเน็ตเวิร์ค 5G ที่วันนี้ยังเติบโตไม่สมบูรณ์ คนยังไม่พร้อมใช้ขนาดนั้น

AISTruemoveDtac
Mid Band1800403010
2100603030
230060
260010090
200150100

ถ้าเปรียบเทียบจำนวน Mid Band ทั้งสามค่ายจะมี 3 คลื่นเหมือนกัน แต่ Bandwidth ของแต่ละค่ายจะมีมากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งก็เหมาะสมตามจำนวนผู้ใช้บริการของแต่ละค่าย

4G บน 2300MHz (บริการบนคลื่นทีโอที) ก็เพียงพอกับการรองรับแอปพลิเคชันปัจจุบัน

ในงานแถลงข่าว 5G ของดีแทค ได้มีการเปรยๆว่า คลื่น 2300 MHz สามารถแปลงไปทำ 5G ได้ ซึ่งมันก็ถูกแต่เพียงครึ่งเดียว เพราะคลื่น 2300 MHz นี้เรียกว่าได้รับความนิยมน้อยมาก มีอุปกรณ์ทำออกมารองรับ 5G เกือบน้อยที่สุด รวมถึงสัญญาการนำคลื่น 2300 MHz มาใช้ ที่ทำกับทาง TOT ก็ดูจะไม่เอื้ออำนวยขนาดนั้น แถมอายุสัญญาก็เหลืออีกแค่ราว 5 ปี ดังนั้นใครที่หวังว่าทาง dtac จะมีทำ 5G บนคลื่นนี้คงต้องลุ้นกันไปก่อน

แต่ในทางกลับกัน ถ้าลองมองมุมกลับในมุมผู้ใช้ทั่วไป ที่ 5G ยังไม่มี Killer Application บนมือถือ หากทางดีแทคสามารถพัฒนาคลื่น 4G บน 2300 MHz ให้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี ทั้งการเข้าเว็บ ดาวน์โหลดข้อมูล หรือสตรีมวิดีโอ เล่นเกมแบบเรียลไทม์ได้ไม่มีสะดุด ดีแทคก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแปลงคลื่น 2300 MHz ให้กลายเป็น 5G เลยก็เป็นได้ เพราะในความเป็นจริง Application หรือ Use Case ในปัจจุบันทั้งหมด 4G สามารถตอบโจทย์และครอบคลุมการใช้งานแล้ว แต่ก็วนกลับไปที่ว่าปัญหาของค่ายสีฟ้า ไม่ได้อยู่ที่อะไรเลย นอกจากความครอบคลุมเท่านั้น

บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ได้มีการจัดอันดับและให้รางวัลเครือข่ายในไทย โดย AIS มีการชูรางวัลอันดับหนึ่งจาก Ookla Speedtest ส่วน Truemove ชูรางวัลอันดับหนึ่งจาก nPerf มาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดทาง dtac ได้ออกมาชูว่าเครือข่ายตนเอง มีความเร็วดาวน์โหลดที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับค่ายอื่นๆ จากการจัดอันดับของ OpenSignal ซึ่งทางดีแทคเคลมว่าเป็นบริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่น่าเชื่อถือที่สุด และทางดีแทคไม่ได้มีการแทรกแซงผลการทดสอบแต่อย่างใด

ซึ่งหากยึดผลการทดสอบของ OpenSignal เป็นหลัก ก็ดูเหมือนกว่าดีแทคยังต้องทำการบ้านเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านความครอบคลุมของสัญญาณ ความหน่วง รวมถึงประสบการณ์อัพโหลดที่ยังตามหลังคู่แข่งอยู่ไม่น้อยเลย

ไปดูรายงานเพิ่มเติมได้ที่ OpenSignal | Mobile Network Experience Report, November 2019

 

รอคลื่นฮีโร่ 700 MHz แก้ปัญหาความครอบคลุม เป็นได้ทั้ง 4G + 5G

ดีแทคได้เข้าร่วมประมูลคลื่น 700MHz และได้คลื่นมาจำนวน 2×10 MHz ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2019 ที่ผ่านมา โดยคลื่น 700 MHz นี้ เป็นคลื่น Low Band ที่มีระยะการส่งสัญญาณที่กว้าง ช่วยแก้ปัญหาที่ดีแทคมีอยู่ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญสามารถเป็นได้ทั้งคลื่น 4G และ 5G ในเวลาเดียวกัน ผ่านฟีเจอร์ของ 5G ที่ชื่อว่า DSS หรือ Dynamic Spectrum Sharing ที่จะช่วยปรับแบ่งคลื่นให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานตามพื้นที่นั้นๆ ถ้ามีคนใช้งาน 4G เยอะ ก็จะแบ่งความถี่ไปให้ 4G มากหน่อย หรือถ้ามีคนใช้ 5G เพิ่มขึ้นมามากแล้วก็จะปรับให้มีสัดส่วนของ 5G ที่เพิ่มขึ้นตามด้วยได้ทันที

แต่ทำไมต้องรอ ในเมื่อประมูลมาได้แล้ว ไม่เริ่มพัฒนาสัญญาณเลยวันนี้? นั่นก็เพราะคลื่นนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบ Refarm คลื่นใหม่จากดิจิทัลทีวีอยู่ โดยทาง กสทช. ได้กำหนดส่งมอบคลื่น และพร้อมให้ทางเครือข่ายที่ได้ใบอนุญาตไปเริ่มนำคลื่นไปใช้งานได้ราวตุลาคมปีนี้

มีเครื่องที่รองรับคลื่น 700 MHz มากขนาดไหน?

สำหรับคนที่สงสัยว่าเครื่องที่รองรับ 4G | 700 MHz และ 5G | 700 MHz มีมากขนาดไหนนั้น ทางเรากำลังขอตัวเลขที่แน่นอนจากทางดีแทคว่าปัจจุบัน เครื่องของผู้ใช้งานในเครือข่ายดีแทค มีเครื่องที่รองรับคลื่น 4G | 700 MHz มากน้อยเพียงใดอยู่ แต่ข้อมูลเบื้องต้น จะมีประมาณนี้

  • iPhone 6 ขึ้นไปใช้งานได้
  • Galaxy S7 ขึ้นไปใช้งานได้
  • Huawei P10 ขึ้นไปใช้งานได้
  • OPPO Find X ขึ้นไปใช้งานได้

ส่วนอุปกรณ์ที่รองรับ 5G คลื่น 700 MHz ในปัจจุบัน ได้แก่ Samsung Galaxy S20 Ultra 5G (รออัพเดทเฟิร์มแวร์), Huawei Mate 30 Pro 5G, OPPO Find X2 Pro 5G

ไม่ใช่ไม่ลงทุน แต่รอจังหวะและเวลาที่เหมาะสม

ดีแทคเป็นบริษัทที่มีรายได้หลายหมื่นล้านบาท และผลประกอบการเป็นบวกมาโดยตลอด (ยกเว้นเมื่อปี 2018 ที่มีการปิดจบข้อพิพาทกับทาง CAT ซึ่งมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท) และมีการลงทุนในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเครือข่ายที่สัญญาณดีที่สุด มี EDGE ครอบคลุมทุกตำบลของไทย แต่ด้วยความในช่วง 4-5 ปีหลัง ทางดีแทคอาจจะไม่ได้ตื่นตัวในเรื่องของการพัฒนาสัญญาณมากพอ จากความไม่แน่นอนของแผนการประมูลคลื่นความถี่ จึงทำให้คุณภาพสัญญาณและความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการลดลงไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าดีแทคจะถอดใจเลิกทำธุรกิจตามที่เคยมีข่าวลือออกมา เพราะเมื่อใดที่ถามผู้บริหารของดีแทคเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะย้ำกลับมาเสมอว่าดีแทคยังเอาจริงเอาจังกับการทำธุรกิจที่ประเทศไทย และพร้อมที่จะพัฒนาเสมอ แต่ทุกอย่างจะมีเวลาของมัน

mmWave 26GHz กับการใช้งานในพื้นที่นำร่องเริ่ม Q2

แม้ว่าดีแทคจะเป็นค่ายที่ได้คลื่น 26 GHz มาน้อยที่สุด เพียง 2 ใบอนุญาต หรือ 200 MHz เท่านั้น แต่ทางผู้บริหารก็ย้ำว่าเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการเปิดให้บริการ FWA หรือ Fixed Wireless Access หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามบ้าน โดยแทนที่จะต้องวางเครือข่ายด้วย Fibre Optic ทางดีแทคก็จะใช้คลื่น 26 GHz นี้ยิงสัญญาณเชื่อมต่อกับบ้านเรือนที่พักอาศัยต่างๆ โดยจะมีความเร็วสูงสุดระดับ Gigabit เตรียมเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อย่างแน่นอน

คลื่น 5G | 3500 MHz ยังมีรอให้ประมูล

ยังมีคนที่เข้าใจอยู่ว่าดีแทคไม่มีคลื่น 2600 MHz แล้วจะไม่สามารถให้บริการ 5G ได้ แต่ในความเป็นจริง คือ คลื่น 2600MHz ไม่ใช่คลื่นเดียว ที่จะมาเปิดบริการ 5G ได้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีคลื่นที่เหมาะแก่การพัฒนาคลื่น 5G ทั้งหมด 3 คลื่น ได้แก่ 700/2600 MHz และ 26GHz ซึ่งเป็นคลื่นมาตรฐานที่หน่วยงานกลาง GMSA เป็นคนกำหนดขึ้นมา ซึ่งดีแทคมีครอบครองคลื่นอยู่ทั้ง 700 MHz และ 26 GHz แต่ทั้ง 3 คลื่นนี้จะยังไม่ใช่คลื่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการพัฒนา 5G แต่เป็นคลื่น 3500 MHz ซึ่งถูกใช้งานรับส่งสัญญาณจากดาวเทียม ที่ปัจจุบันกำลังรอหมดสัมปทานกับทางไทยคม ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งคาดกันว่าคลื่นจะถูกนำมาจัดสรรทันทีหลังหมดสัมปทาน และทางดีแทคก็ย้ำมาโดยตลอดว่าคลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นที่เหมาะสมสำหรับ 5G ซึ่งใช้เป็นคลื่นหลักทั่วโลก ส่วนคลื่น High Band ที่ครั้งนี้ดีแทคคว้ามาเพียงแค่ 2 ใบอนุญาตนี้ หากมี Use Case ตัวอย่างการใช้งานที่เป็นรูปเป็นร่างเมื่อไหร่ ก็ยังมีคลื่นช่วง 28 GHz ที่ยังว่างรอการประมูลต่อไปได้อีก แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าเมื่อไร กสทช. จะนำออกมาประมูล

จำนวนเครื่องที่รองรับ 5G แบ่งตามความถี่ โดยคลื่น 3500 MHz จะเป็นคลื่นที่ได้รับความนิยมที่สุด ตามมาด้วย 2600 MHz และ 4700 MHz ตามลำดับ / source: GSMA, Jan 2020

ในอีก 2-3 ปีตลาด 5G จะพร้อมมากขึ้น

อีกเหตุผลที่ทำให้ทางดีแทคมองข้ามการประมูลในรอบนี้ไปก่อน คือความพร้อมของตลาด 5G ที่หลายฝ่ายพยายามย้ำมาโดยตลอดว่า 5G ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำเครือข่ายให้สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ โดรน มิกซ์เรียลลิตี้ และอื่นๆ เรียกว่าเป็นการรองรับการใช้งานที่มากขึ้น รวมถึงซัพพอร์ทภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่ายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ของยุค 5G ก็ว่าได้ เพราะยังมีตัวอย่างการใช้งานที่ค่อนข้างจำกัด การรีบลงทุน โยนเงินเพื่อกว้านซื้อคลื่นความถี่ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสำหรับเครือข่ายอย่างดีแทคนัก แต่เมื่อไหร่ที่ตลาดพร้อม เห็นช่องทางที่จำสร้างรายได้อย่างชัดเจน คลื่นความถี่ที่ได้รับความนิยมที่สุดออกมาประมูล ดีแทคจึงค่อยเข้าสมรภูมิ 5G แบบเต็มตัว ณ เวลานั้น ดีแทคก็ไม่จำเป็นต้องออกแรงในการสร้างตลาดมาก ซึ่งก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี

แต่ทั้งหมดนี้ดีแทคก็ไม่ใช่ว่าจะปราศจากความเสี่ยงเพราะยังต้องเจอกับความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง ทั้งคลื่น 3500 MHz นี้ยังไม่รู้ว่าจะได้รับการจัดสรรแน่นอนหรือไม่ การทิ้งคลื่น 2600 MHz ทั้งที่คลื่น 2300 MHz เหลือสัมปทานอีกไม่กี่ปีก็อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ แถมปัจจุบันคลื่น 2600 MHz ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงภาพลักษณ์ของดีแทคในสายตาประชาชนจะถือว่าล้าหลังและช้ากว่าคู่แข่งในตลาด 5G ไม่น้อยเลยทีเดียว

สรุป

ทั้งหมดนี้บางคนอาจจะมองว่าดีแทคไม่ลงทุน ไม่ได้มุ่งมั่นจะขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะมองได้ว่าดีแทควิเคราะห์สถานการณ์ตัวเองได้ดี และรู้ว่าอะไรเหมาะกับตัวเองที่สุด หากเล็งแต่จะเล่นตามเกมของคู่แข่ง ทำทุกอย่างเหมือนกับที่ค่ายใหญ่ทำ ทั้งที่ตนเองไม่ได้มีกำลังทรัพย์ และจำนวนผู้ใช้งานที่เทียบเท่า ก็อาจจะเป็นทางที่ทำให้เกิดหายนะในอนาคตได้

ดังนั้นการที่ดีแทคเลือกจะสร้างเกมของตัวเอง ปูทางเดินขึ้นมาใหม่ ก็ดูจะไม่ผิดและเหมาะสมดีแล้ว แต่หนทางนี้ก็อาจจะดูห่างจากการกลับเป็นผู้นำ และต้องเจอแรงต้าน ความไม่เชื่อมั่นจากนักลงทุนและผู้ใช้งานไม่น้อย รวมถึงความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเวลาคงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าที่ดีแทคตัดสินใจ เลือกจะตามอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงในวันนี้ เพื่อรอวันผงาดในอนาคต จะถูกต้องหรือไม่

 

13/03/2020 07:06 PM