วันนี้เรามี Gadget สำหรับคนรักรถอย่าง OBD2 (On-board Diagnostic) แบรนด์ ZUS มารีวิวให้ดูกันครับ โดยเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้สามารถบอกข้อมูลต่างๆ ของรถที่เรากำลังใช้งานอยู่ ว่าเครื่องมีปัญหาอะไรรึเปล่า, บอกอุณหภูมิเครื่อง, รอบเครื่อง ฯลฯ ได้แบบ Real-time และยังสามารถใช้บันทึกเส้นทางที่เราใช้ในแต่ละวัน หรือบันทึกสถานที่ว่าเราจอดรถไว้ที่ไหนได้อีกด้วย
OBD2 (OBD II) หรือ On-board Diagnostic คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสแกนข้อมูลของรถที่เสียบ OBD2 อยู่ โดยมันสามารถบอกรายละเอียดต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นรอบเครื่อง, ความเร็ว, อุณหภูมิเครื่อง, ระยะทาง และแจ้งเตือนได้ว่ารถเกิดความผิดปกติอะไรขึ้นบ้าง (อย่างเช่นไฟเครื่องยนต์ติดขึ้นมาบนหน้าคอนโซลรถ)
OBD2 ที่เรานำมารีวิวคราวนี้เป็นของแบรนด์ ZUS ซึ่งมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับมือถือผ่าน Bluetooth เพื่อส่งหรือแสดงข้อมูลต่างๆ ของรถมาที่หน้าจอมือถือแบบ Real-time ให้เราเช็ค และบันทึกข้อมูลได้แบบง่ายๆ
รถรุ่นใหม่ๆ สมัยนี้จะมีพอร์ตสำหรับเสียบ OBD2 ให้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากจะซ่อนเอาไว้ใต้คอนโซลฝั่งคนขับ (ต้องลองมุดหากันดูนะครับ) โดยพอร์ตของมันจะมีหน้าตาแบบนี้
พอเจอแล้วเราก็เอาตัว OBD2 ไปเสียบได้เลย พอสตาร์ทเครื่องปุ๊บ เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ก็จะพร้อมใช้งานทันที
แต่ก่อนที่เราจะเชื่อม OBD2 เข้ามือถือ ก็ต้องติดตั้งแอปกันซะก่อนนะครับ ซึ่งสามารถไปดาวน์โหลดจาก Google Play หรือ App Store มาติดตั้งได้เลยฟรีๆ แอปมีชื่อว่า ZUS – Free OBD2 Offer
ZUS - Free OBD2 Offer (Free+, Google Play) →
ZUS - Complimentary OBD2 Offer (Free+, App Store) →
การเชื่อมต่อครั้งแรกก็ไม่มีอะไรยากเลย หลังจากติดตั้งแอปลงมือถือแล้ว ก็สตาร์ทรถ เปิดแอปแล้วจับคู่อุปกรณ์ก็เรียบร้อย เมื่อเข้ามาในแอป ZUS ที่มุมซ้ายบน (รูปรถ) เมื่อเรากดเข้าไป ก็จะสามารถตั้งค่าการใช้งานต่างๆ ได้ในนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรุ่นรถที่ใช้, ตั้งชื่อรถคันที่เชื่อมต่ออยู่, ใส่รูปรถ, เปลี่ยนหน่วยวัดต่างๆ (ไมล์, กิโลเมตร, ฟาเรนไฮต์, เซลเซียส ฯลฯ)
ส่วนแถบด้านล่างจะเป็นการใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ ซึ่งมีตัวเลือกดังนี้
กิจกรรมทุกอย่างที่ถูกบันทึกไว้ด้วย ZUS ในแต่ละครั้งที่สตาร์ทรถ จะปรากฏอยู่บนหน้า Timeline โดยจะเรียงตามวันล่าสุดลงไปเรื่อยๆ มีทั้งระยะทางในการขับรถตั้งแต่สตาร์ทรถจนถึงตอนดับรถ, ตำแหน่งที่จอดรถ, ปัญหาของรถที่สแกนพบ (ตัวหนังสือแดง)
ในหน้า Timeline จะมีข้อมูลของที่จอดรถ (Car Finder) หลังจากการดับเครื่องครั้งล่าสุด โดยข้อมูลดังกล่าวจะบันทึกตำแหน่งของรถยนต์เอาไว้ก่อนที่เราจะดับเครื่องนั่นเอง หากเรากดเข้าไปดูก็จะเจอกับหน้าจอที่จะบอกว่าตอนนี้ตำแหน่งที่เราจอดเอาไว้อยู่ห่างจากเราเท่าไหร่ ซึ่งก็มีประโยชน์ดี ถ้าหากเราจอดรถเอาไว้ที่ลานจอดกว้างๆ แล้วอาจจะมึนว่าไปจอดไว้ตรงส่วนไหน แต่ถ้าหากจอดรถเอาไว้ในห้างหลายๆ ชั้น หรือจอดไว้ใต้ตึกที่ไม่มีสัญญาณ GPS ฟีเจอร์นี้ก็จะใช้ไม่ได้นะครับ
หน้าจอที่จะแสดงข้อมูลของรถแบบ Real-time ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว, รอบเครื่อง, อุณหภูมิเครื่อง หรือแรงดันลมยางทั้ง 4 ข้าง (ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่ม)
หน้า Dashboard ยังแบ่งย่อยๆ ออกไปได้อีกด้วยการปัดจอไปทางซ้ายเพื่อดูประสิทธิภาพของเครื่องระหว่างขับ อย่างเช่นขับมาเป็นเวลานานเท่าไหร่, หยุดรถเป็นเวลานานเท่าไหร่, เหยียบเร่งเครื่องเต็มที่กี่ครั้ง, เบรคแรงกี่ครั้ง
Idling คือรถจอดอยู่เฉยๆ
ส่วนหน้าสุดท้ายเป็นการแสดงข้อมูลอื่นๆ ที่เราเพิ่มเข้าไปเองได้หากต้องการ อย่างเช่นอัตราการเร่ง, ความเร็ว, การระบุตำแหน่งโดย GPS, ระดับแบตเตอรี่รถ ฯลฯ
หน้านี้จะเป็นข้อมูลของเส้นทางที่เราขับทั้งหมดตั้งแต่สตาร์ทรถจนดับเครื่อง ซึ่งเรากดเข้าไปดูข้อมูลได้ว่าขับไปไหนมาบ้าง และใช้เส้นทางไหน ขับเป็นระยะทาง และระยะเวลาเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังใส่พวกค่าจอดรถ / ค่าทางด่วนที่ต้องเสียในทริปนั้นๆ ได้ เผื่อไว้เรียกดูทีหลัง (ถ้าใครกลัวว่าจะมีคนมาแอบดูว่าไปไหนมาบ้าง ก็กด Remove เพื่อลบทริปนั้นทิ้งได้นะจ๊ะ 555)
สำหรับฟีเจอร์บันทึกเส้นทาง จะต้องเปิดแอปก่อนออกรถด้วยนะครับ เนื่องจากแอปจะไม่เริ่มโดยอัตโนมัติ รวมถึงต้องอนุญาตให้แอปเข้าถึงตำแหน่งได้ตลอดเวลาด้วย เพราะบางทีขับรถยาวๆ แล้วแอปอาจปิดตัวเองระหว่างทาง ทำให้มันไม่บันทึกข้อมูลต่อนั่นเอง
หน้านี้เป็นการรวบรวมข้อมูลของปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการสตาร์ทรถ และมีการสแกนความสมบูรณ์ของตัวรถ ถ้ารถมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะมีตัวหนังสือสีแดงแจ้งขึ้นมาเตือนว่าตอนนี้รถของเรามีอะไรผิดปกติอยู่ซักอย่าง
เมื่อกดเข้าไปดูก็จะมีข้อมูลให้ดูว่าปัญหาดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง อย่างเช่นรถที่ผมใช้มีไฟเครื่องยนต์ติดขึ้นมา แอปนี้ก็จะบอกว่าที่ไฟติดแบบนี้อาจจะเป็นเหตุจากอะไรได้บ้าง แต่ข้อความแจ้งเตือนเหล่านั้นจะใช้ศัพท์เฉพาะทางที่หากไม่ใช่ช่างแล้วก็คงจะไม่เข้าใจว่ามันเตือนว่าอะไรบ้าง (แถมยังเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย) นอกจากนี้ยังมีการประมาณค่าซ่อม หรือค่าบริการต่างๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นให้ด้วย แต่เรตค่าบริการจะใช้ของทางอเมริกา ก็เลยไม่มีประโยชน์กับผู้ใช้งานประเทศอื่นๆ ครับ
หน้านี้จะเป็นการใช้บริการฉุกเฉินอย่างเช่นเรียกตำรวจ, เรียกรถพยาบาล หรือเรียกรถยก แต่เนื่องจากบริการเหล่านี้จะใช้งานได้เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น จึงไม่มีประโยชน์กับผู้ใช้งานประเทศอื่นๆ อีกเช่นกัน
การเสียบ OBD2 ไว้ที่รถยนต์ จะมีการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ใช้เยอะมากมายนัก ซึ่งการใช้รถในชีวิตประจำวันไม่เกิดปัญหาอะไรแน่นอน แต่ถ้าหากมีธุระต้องไปต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ทำให้ไม่ได้ขับรถเป็นเวลานาน (ประมาณ 3 – 4 สัปดาห์) ก็แนะนำให้ถอด OBD2 ออกซะก่อนนะครับ
OBD2 จาก ZUS ที่เรารีวิวกันคราวนี้ อยู่ในช่วงโปรโมชั่นแจกฟรี จากราคาเต็ม 60 ดอลลาร์ (ราวๆ 1,900 บาท) แต่เราต้องเสียค่าส่งเองประมาณ 280 บาท ก็เลยลองสั่งมาใช้ดู ประโยชน์ของ OBD2 จาก ZUS ตัวนี้ หลักๆ จะอยู่ที่การสแกนสุขภาพของรถว่ามีอะไรผิดปกติไปบ้างรึเปล่า เพื่อที่เราจะได้เอาเข้าศูนย์หรือเข้าอู่ให้ช่างลองเช็คเครื่องเพื่อความปลอดภัย, ใช้บันทึกเส้นทางของแต่ละวันได้ว่าขับรถไกลแค่ไหน นานแค่ไหน และยังใช้สังเกตพฤติกรรมการขับรถของตัวเองได้อีกว่าในการขับแต่ละครั้ง เราเหยียบคันเร่งแบบแรงๆ และเบรคแบบตัวโก่งกันไปกี่รอบ หรือใครอยากจะใช้มือถือเป็นหน้าจอ Dashboard เท่ๆ ก็ได้เหมือนกันนะ
ใครที่สนใจอยากลองสั่งมาใช้งานบ้างก็เข้าไปดูกันได้ในเว็บไซต์ nonda.co ได้เลยครับ
18/08/2020 11:50 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย