เตรียมตัวจะประมูลกันในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นี้แล้ว สำหรับคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้งาน 5G ในประเทศไทย ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตาดูว่าจะมีใครเข้าประมูลในครั้งนี้บ้าง แต่เชื่อว่าสิ่งนึงที่หลายคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจก็คือ ประเทศเราจะเอา 5G มาทำอะไร หรือมันจะเป็นแค่เวอร์ชั่นใหม่ของ 4G ที่ทำให้ใช้โหลดอะไรได้เร็วขึ้นเท่านั้นหรือ? วันนี้เราจะพาไปดูกันลึกๆให้เข้าใจกัน
4G | ︎ | 5G | |
การตอบสนอง (Latency) | 10 ms | เร็วขึ้น | <1 ms |
ขีดการรับส่งข้อมูล (Data Traffic) | 7.2 Exabytes / เดือน | มากขึ้น | 50 Exabytes / เดือน |
ความเร็วรับส่งสูงสุด (Peak Data Rates) | 1 Gbps | เยอะขึ้น | 20 Gbps |
คลื่นความถี่ที่รองรับ (Available Spectrum) | 3 GHz | กว้างขึ้น | 30 GHz |
ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ (Connection Density) | 100,000 การเชื่อมต่อ / ตร.กม. | แน่นขึ้น | 1,000,000 การเชื่อมต่อ / ตร.กม. |
สเปคที่เปลี่ยนไปของ 4G > 5G
ถ้าจะบอกว่า 5G คือ 4G ที่ดีกว่าเร็วกว่าก็ไม่ผิดนัก โดยสำหรับใช้งานทั่วไปทุกวันนี้ หลายคนคงจะบอกว่า 4G เพียงพอแล้ว จะเอาเร็วขึ้นกว่าเดิมไปทำไม แต่ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของ 5G นั้นมันจะปลดล็อคความสามารถที่จะเกิดขึ้นมาบนโลกได้อีกมากเลย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ 5G เปลี่ยนโลกได้นั้นก็มี 3 แกนหลักๆ คือ
แต่ละอย่างที่บอกไปไม่ว่าจะ บังคับรถยนต์ระยะไกล ดาวน์โหลดข้อมูลขนาดใหญ่ หรือรองรับอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก มันช่างดูล้ำสมัยไฮเทค จนดูเหมือนว่าประเทศเรายังช่างดูห่างไกลกับเทคโนโลยีเหล่านั้นในสายตาใครหลายคน แต่ในความเป็นจริง นอกเหนือจากเครือข่ายที่ต่างพัฒนาตัวเองให้รองรับ 5G แล้ว ก็ยังมีหน่วยงานและธุรกิจอีกหลายเจ้าที่พยายามพัฒนาและฉีกข้อจำกัดเดิมๆ ผ่านเทคโนโลยี 5G กันไม่น้อย
ปัจจุบันเครือข่ายต่าง ๆ ทั้ง เอไอเอส ทรูมูฟ หรือดีแทค ต่างยังไม่มีคลื่นที่เหมาะสมในการพัฒนาเครือข่าย 5G ซึ่งการประมูลคลื่นเพื่อนำเอาไปใช้งาน 5G โดยเฉพาะก็จะเริ่มในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ โดยช่วงก่อนหน้านี้แต่ละเครือข่ายต่างมีการขออนุญาตทางกสทช. ทดสอบใช้คลื่นในช่วงความถี่ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจและพัฒนาเทคโนโลยีกัน
เราได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ 5G จากเครือข่ายต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนบางคนอาจจะเข้าใจว่าการทดสอบนี้คือการเอาคลื่นมาลองใช้เพื่อขิงข่มกันในเชิงการตลาดเท่านั้น ซึ่งตรงนี้หลังจากที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ H-NOS ของทางเอไอเอส จึงเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องทางเทคนิคล้วนๆ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างมากหากต้องการวางเครือข่าย 5G ให้ได้ประสิทธิภาพ
เพราะคลื่นความถี่และลักษณะที่ใช้งานที่แตกต่าง การทดสอบลองใช้ 5G จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
สิ่งที่ทำให้ 5G ต่างออกไปจากเมื่อคราว 4G ก็คือ คลื่นความถี่ และลักษณะการใช้งาน ที่ไม่เหมือนกัน โดย 4G จะใช้งานตั้งแต่ช่วงความถี่ 700 – 3500 MHz และอุปกรณ์ที่ทดสอบด้วยจะมีเพียงสมาร์ทโฟนเป็นหลักเท่านั้น แต่ 5G จะมีช่วงคลื่นที่ใช้งานมากขึ้น ความถี่ขยับขึ้นสูงไปถึง 30,000 MHz โดยความถี่ที่สูงระดับหมื่นนี้จะมีระยะทำการของคลื่นที่สั้นและอ่อนไหวมาก จากที่เสาส่งสัญญาณต้นนึงส่งได้ไกลหลายกิโลเมตร ทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดี จะเหลือแค่หลักร้อยเมตร รวมถึงมีสิ่งกีดขวางเล็กน้อยคลื่นก็หายแล้ว และความยากลำบากยังรวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้งานบน 5G จะไม่ได้มีแค่สมาร์ทโฟน แต่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลากหลายไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ แว่นตา อุปกรณ์การแพทย์ เซนเซอร์ต่างๆ และอื่นๆอีกมาก ซึ่งการจับจูนให้คลื่นและอุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานร่วมกันได้ ในสภาพแวดล้อมต่างๆ คือความท้าทายอย่างมาก ต้องเจอโจทย์ อุปสรรค ปัญหาต่างๆ ที่ต้องกลับมาคิดค้น พัฒนา หาโซลูชั่น ลองผิด / ลองถูก อยู่เสมอ โดยเครือข่ายที่เริ่มทดสอบตั้งแต่ช่วงนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการใช้งาน 5G เป็นเครือข่ายแรกๆ ของโลกเลยก็ว่าได้
การทดสอบ 5G ประเทศไทยมีการเริ่มครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2018 และตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา โดยในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างการทดสอบของทางเอไอเอสมาเล่าให้อ่านกัน เพื่อให้ได้เห็นภาพกันมากขึ้น คลื่นความถี่ที่ได้ลองติดตั้งทดสอบกันจะมีทั้ง Sub6 [2600 MHz, 3500 MHz] และ mmWave [26 GHz] ที่มีความยากในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
ทั้งหมดนี้ทำให้เครือข่ายได้เรียนรู้ข้อดีและข้อจำกัด ต้องคิดค้น พลิกแพลงวิธีการหรือโซลูชั่นในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น วิศวกรของเอไอเอสต้องนำกระจกมาตั้งตามมุมตึก ที่เป็นมุมอับของสัญญาณ 5G แบบ mmWave เพื่อสร้างการสะท้อนของคลื่น เป็นต้น ตรงนี้ทางทีมเน็ตเวิร์คบอกว่าจะทำงานระดับนี้ได้ ตัวโอเปอร์เรเตอร์ต้องมีความจริงจัง และทุ่มเทในการศึกษา เพื่อให้เข้าใจลักษณะการใช้คลื่น หาโซลูชั่น ลองผิด / ลองถูก ชนิดที่เรียกว่า Network Tailor-made หรือปรับแต่งเครือข่ายให้เข้ากับแต่ละงานไป สร้างโซลูชั่นส์ที่เหมาะสม เป็นต้นแบบ 5G Use Cases ที่น่ามาประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต
Timeline การทดสอบ 5G ที่ผ่านมาของ AIS ไปมาแล้วครบทุกภาค
ในการทดสอบใช้งาน 5G ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งที่ใกล้เคียงกับการใช้งานของผู้ใช้อย่างเรามากที่สุด คงจะมีเพียงแค่การดาวน์โหลดที่ไว หรือการทำวิดีโอคอล ซึ่งต่างก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเราสามารถทำได้ตั้งแต่ยุค 4G แล้ว ที่อาจจะเห็นชัดขึ้นมาหน่อยก็คือใครมีอุปกรณ์ 5G ก็จะได้ความเร็วที่ดีขึ้นแม้อยู่ในพื้นที่แออัดก็ตาม แต่ถ้าทำได้เท่านี้ก็ฟังดูไม่เข้าท่านักกับการประมูลคลื่นกันมาแพงๆ แต่กลับทำได้เท่าเดิม
แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า 5G มันเป็นมากกว่า 4G ที่เร็วขึ้น ด้วยความที่ตอบสนองที่ดีกว่า ดาวน์โหลดข้อมูลได้เร็วกว่า และรองรับอุปกรณ์จำนวนมากได้ สิ่งที่ 5G จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นหลักจะอยู่ที่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ลองนึกถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดจำนวนคนลง ไม่ต้องวุ่นวายจัดทำจัดเก็บเอกสาร เปลี่ยนการจัดการระบบสินค้าให้ง่ายขึ้น ใช้เครื่องจักรและเซนเซอร์ต่างๆ ในการดำเนินการ ก็จะทำให้ภาพรวมของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่รับเอาเทคโนโลยี 5G ไปใช้ สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ดีขึ้นทันที ลองนึกถึงภาพที่เกษตรกรสามารถทำนาได้โดยไม่ต้องลงแรงหนักเท่าเดิม พนักงานหน้าร้านที่ไม่ต้องมีจำนวนมากเหมือนแต่ก่อน ซึ่งจำนวนคนที่หายไปนี้ คาดกันว่าจะเกิดเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมาอีกมาก ซึ่งตรงนี้เองที่ 5G จะเป็นตัวสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายได้
5G เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เครือข่าย และหน่วยงานการศึกษา
มีการคาดการณ์ว่า 5G จะเกิดขึ้นในระดับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจก่อนระดับผู้ใช้ทั่วไป แต่แม้ว่า 5G จะดูดีมีประโยชน์แค่ไหน แต่การหาคนที่พร้อมจะลงทุนปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความดิจิทัล (Digital Transformation) ฝึกสอนพนักงานที่เคยชินกับการทำงานแบบเดิมๆ มาเป็นสิบปี ให้อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร และนั่นก็ยังไม่ได้ยากที่สุดสำหรับ 5G เพราะการหาโซลูชั่นทั้งคนเข้าไปช่วยวางแผน หรือบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการสำหรับธุรกิจให้ใช้งาน 5G ได้ด้วย เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
ด้วยความที่ 5G เป็นเรื่องที่ใหม่มาก เรียกว่านับประเทศที่มีการใช้งานจริงจัง ทำให้เกิดประโยชน์ได้จริงทั่วโลก ยังมีอยู่ไม่ถึง 10 ประเทศเสียด้วยซ้ำ หลายประเทศที่บอกว่าเปิดทดลอง มีตัวอย่างใช้งาน 5G จริงให้เห็น แต่พอเสร็จจากโชว์เคสแล้วต้องทิ้งตัวอย่างทั้งหมดไป เพราะใช้งานจริงได้ยากก็มี เรียกว่ายังต้องศึกษาทดลองทดสอบอยู่ ยังไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ โจทย์การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในไทย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และยาก แต่จากตัวอย่างที่เราได้เห็นข้างต้น ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสทางธุรกิจที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอีกมากเช่นกัน เป็นโจทย์ของผู้ให้บริการอย่างโอเปอร์เรเตอร์ ที่จะต้องมองหาโอกาสในการต่อยอด 5G Ecosystem ให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่าที่สุดต่อการลงทุนมหาศาล ไม่ว่าจะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงเทคโนโลยี 5G ที่ถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ ทั้งกับประเทศไทย และทั่วโลก
เราได้เห็นการบังคับโดรนผ่าน 5G ในงานโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 2018 ณ เมืองพย็องชัง จังหวัดคังว็อน ประเทศเกาหลีใต้กันมาแล้ว แต่หลังจากงานนี้เห็นว่าโซลูชั่น 5G ที่ใช้ยังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก รวมถึงต้องทิ้งบางส่วนเพื่อไปพัฒนาด้านอื่นแทนไปเลยก็มี
ด้วยความที่ 5G ให้บริการบนคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่ก็เป็นทรัพยากรของชาติ ไม่ใช่ว่าใครๆจะสามารถใช้งานได้เลย กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ควบคุมดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ในประเทศไทย ก็ได้ประกาศจัดประมูลคลื่นความถี่ที่จะถูกนำมาใช้งาน 5G นี้ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้แล้ว
สำหรับคลื่นความถี่ที่ใช้พัฒนา 5G กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ ช่วงคลื่น 3500 MHz แต่ในการประมูลวันที่ 16 ก.พ. ที่จะถึงนี้ จะไม่มีคลื่นนี้นำออกมาให้แต่ละเครือข่ายเข้าร่วมจับจองแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร คลื่นนี้จะถูกในมาใช้ในอุตสาหรรมดาวเทียม โดยในไทยทางไทยคมก็ใช้งานอยู่ ทำให้คลื่นที่จะถูกนำมาพัฒนาใช้งาน 5G ในประเทศไทยถูกปรับเป็นคือคลื่น 2600 MHz แทน ที่อาจจะแพร่หลายน้อยกว่า ซึ่งบางคนก็กังวลว่า จะมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่รองรับหรือไม่ แต่ตามข้อมูลที่รับมา ปัจจุบันคลื่น 2600 MHz เริ่มได้รับความนิยม ใช้กันในหลายประเทศมากขึ้น จากการผลักดันของจีนที่เป็นผู้นำด้าน 5G ได้ให้คลื่น 2.6GHz นี้แก่เครือข่าย China Mobile ในการพัฒนาและใช้งานจนเริ่มมีอุปกรณ์เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากแล้วนั่นเอง
700 MHz | 1800 MHz | 2600 MHz | 26 GHZ | |
คลื่นความถี่ต่อใบอนุญาต | 2×5 MHz | 2×5 MHz | 10 MHz | 100 MHz |
จำนวนใบอนุญาต | 3 ใบ | 7 ใบ | 19 ใบ | 27 ใบ |
ราคาต่อใบอนุญาต | 8,792 ล้านบาท | 12,486 ล้านบาท | 1,862 ล้านบาท | 300 ล้านบาท |
หากการประมูลเสร็จสิ้นไปด้วยดี ประเทศไทยจะมีคลื่น 5G หลักทั้ง Sub6 (2600MHz) และ mmWave (26GHz) มาให้บริการประชาชน ส่วนคลื่น 700MHz และ 1800MHz นั้นคงต้องรอติดตามว่าจะมีใครนำไปใช้งานเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะยังมีการประเมินว่าเหมาะกับการให้บริการ 4G มากกว่าอยู่
สำหรับอนาคตของ 5G ในเมืองไทย คงต้องติดตามหลังการประมูลว่าจะมีใครเข้าร่วมกันบ้าง โดยน่าจะรู้ผลในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ที่เป็นวันยื่นซองแจ้งความจำนง และสุดท้ายใครเป็นคนได้ใบอนุญาตไป รวมถึงจะมีการพัฒนาให้ระดับผู้ใช้งานทั่วไปเข้าถึงได้เมื่อไหร่ แต่สิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมและหาข้อมูลรอกันได้เลยก็คงจะไม่พ้น
ซึ่งน่าสนใจว่าอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานนี้ เห็นสมาร์ทโฟนค่ายจีนหลายเจ้าก็เริ่มขยับตัว และเตรียมเข็นรุ่นที่รองรับ 5G เข้ามาขายในราคาที่เอื้อมถึงได้ไม่ยากออกมากันแล้ว แค่หมื่นกว่าบาทก็พร้อมจับจองใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ได้เลย ที่เหลือก็น่าจะต้องรอลุ้นถึงค่าใช้จ่ายว่าจะออกมาที่เท่าไหร่ และเปิดให้ใช้ในพื้นที่ใดบ้างต่อไป
ส่วนใครที่เป็นเจ้าของกิจการ ห้างร้าน ที่สนใจจะเอา 5G ไปใช้งานกัน ก็รอติดตามข่าวกับพวกเราต่อไปได้ ว่าจะมีสินค้าและบริการอะไรบ้างที่จะช่วยทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าคุณได้มากขึ้น จัดการกับคนและลดกระบวนการอันน่าปวดหัวลงในบริษัทได้อย่างไรกันครับ
31/01/2020 10:06 AM
2014 © ปพลิเคชันไทย