นาฬิกา Smart Watch ช่วยเฝ้าระวังโควิด-19 ได้ด้วยฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจน SpO2 - Android

Get it on Google Play

นาฬิกา Smart Watch ช่วยเฝ้าระวังโควิด-19 ได้ด้วยฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจน SpO2 - Android

Smart Watch หรือ Smart Band ทุกวันนี้ต้องบอกว่ามีการใส่เซนเซอร์เข้ามาให้มากมาย เห็นเรือนเล็กๆ แต่ตรวจวัดค่าต่างๆ ได้หลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ที่หลายคนอาจมองข้าม หรือใช้เพียงแค่ตรวจสอบคุณภาพการนอน อย่างเซนเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) วันนี้น่าจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อออกซิเจนในเลือดที่ลดลง อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ COVID-19 ก็เป็นได้ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 มีรายงานพบผู้ป่วย COVID-19 ที่ตรวจพบออกซิเจนในเลือดต่ำโดยไม่ได้มีอาการแสดงใด ๆ ที่บ่งบอกถึงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำเลย ทั้งที่โดยปกติร่างกายเราจะต้องตอบสนองด้วยการหายใจที่บ่อยขึ้น ยาวขึ้น […]

Smart Watch หรือ Smart Band ทุกวันนี้ต้องบอกว่ามีการใส่เซนเซอร์เข้ามาให้มากมาย เห็นเรือนเล็กๆ แต่ตรวจวัดค่าต่างๆ ได้หลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ที่หลายคนอาจมองข้าม หรือใช้เพียงแค่ตรวจสอบคุณภาพการนอน อย่างเซนเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) วันนี้น่าจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อออกซิเจนในเลือดที่ลดลง อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ COVID-19 ก็เป็นได้

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 มีรายงานพบผู้ป่วย COVID-19 ที่ตรวจพบออกซิเจนในเลือดต่ำโดยไม่ได้มีอาการแสดงใด ๆ ที่บ่งบอกถึงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำเลย ทั้งที่โดยปกติร่างกายเราจะต้องตอบสนองด้วยการหายใจที่บ่อยขึ้น ยาวขึ้น เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในร่างกายไปแล้ว ซึ่งมีการเรียกภาวะนี้ว่า Silent hypoxia หรือ Happy hypoxia1

Happy Hypoxia อาการร้ายแรงจากโควิดที่มาแบบเงียบ ๆ

Happy hypoxia ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย? ปกติแล้วเมื่อออกซิเจนในร่างกายลดลงจนถึงจุด ๆ หนึ่ง จะเกิดการกระตุ้นส่วนที่เรียกว่า Carotid body ซึ่งอยู่ใกล้กับหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ การกระตุ้นนี้จะส่งผลให้ร่างกายตอบสนองด้วยอาการ “หิวอากาศหายใจ” คือผู้ป่วยจะมีอากาศหายใจเร็ว และรู้สึกหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea) ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบได้ในผู้ป่วยโรคปอดบวม หรือผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว และที่สำคัญคือมันน่าจะเจอในผู้ป่วย COVID-19 ด้วย 

และปัญหามันก็อยู่ตรงที่ว่าผู้ป่วย COVID-19 บางรายอาจจะไม่แสดงอาการหิวอากาศหายใจเลย แถมยังใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงมากจนร่างกายไม่สามารถทนได้แล้ว ค่อยแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน และอาการเหล่านั้นยังมีความรุนแรงจนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าเหตุใดผู้ป่วย COVID-19 จึงไม่แสดงอาการของภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ แต่ก็มีหลักฐานมากพอที่บ่งชี้ว่าการติดเชื้อโคโรนาไวรัส มีส่วนทำให้ Carotid body ทำงานผิดเพี้ยน และไม่เกิดการตอบสนองต่อระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง

เซนเซอร์ SpO2 ในนาฬิกาช่วยเฝ้าระวังโควิดได้

กลับมาที่ประเด็นของเรากันนะครับ เหตุใด Smart Watch หรือ Smart Band ที่มาพร้อมฟีเจอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด  จึงมีประโยชน์ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ?? 

จากความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Happy hypoxia ของผู้ป่วย COVID-19 ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ สามารถเฝ้าระวังความรุนแรงของโรคได้จากระดับออกซิเจนในเลือด ด้วยเซนเซอร์ SpO2 ใน Smart Watch หรือ Smart Band อย่างน้อยมันก็ช่วยเตือนให้คุณไปตรวจเช็คซ้ำกับแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อดำเนินการตรวจหาเชื้อได้อย่างทันท่วงที 

นอกจากนี้ เนื่องจากการวัดอุณหภูมิร่างกาย (วัดไข้) อาจจะไม่สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อได้ เพราะเครื่องวัดอุณหภูมิมีความคลาดเคลื่อนได้จากหลายปัจจัย (เช่น อุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมรบกวนการตรวจ) หรือผู้ป่วยอาจจะไม่มีไข้เลยก็ได้ ทำให้การวัดอุณหภูมิร่างกายคงไม่เพียงพอต่อการคัดกรอง 

จากรายงานของหน่วยบริการสุขภาพแห่งชาติในประเทศอังกฤษ2 จึงเพิ่มวิธีการคัดกรองโดยใช้เซนเซอร์ SpO2 วัดระดับออกซิเจนในเลือด และยังแนะนำให้ประชาชนซื้อติดไว้คอยคัดกรองบุคคลในครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการเชื้อ COVID-19 ด้วย หากระดับออกซิเจนในเลือดเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ให้สงสัยว่าคน ๆ นั้นอาจติดโคโรนาไวรัส จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด (แม้เขาจะไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ ออกมาเลย)

การทำงานของเซนเซอร์ SpO2

การทำงานของเซนเซอร์วัดออกซิเจนในเลือด ใน Smart Watch และ Smart Band จะใช้หลักการสะท้อนของแสง หากสังเกตดี ๆ เซนเซอร์จะปล่อยแสงสีแดง (บางแบรนด์ใช้สีเขียว) พร้อมคลื่นอินฟราเรดที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ออกมาพร้อมกัน แสงสีแดงจะทะลุผ่านเฉพาะเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนมาก ในขณะที่คลื่นอินฟราเรดจะทะลุผ่านเฉพาะเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนน้อย3 


image credit : GARMIN : Pulse Ox

ดังนั้น การประเมินระดับออกซิเจนในร่างกาย จะดูจากปริมาณแสงสีแดงที่สะท้อนกลับสู่อุปกรณ์ของคุณนั่นเอง ซึ่งอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วที่นิยมใช้กันในโรงพยาบาล ก็อาศัยหลักการสะท้อนของแสงเช่นเดียวกันครับ

ตัวอย่าง Smart Watch และ Smart Band ที่มีฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด

สำหรับ Smart Watch และ Smart Band ที่มาพร้อมฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือดมีอยู่หลากแบรนด์หลายรุ่น ซึ่งผมขอยกตัวอย่างในแต่ละแบรนด์ ดังนี้

Apple

  • Apple Watch Series 6

Huawei

  • Huawei Honor Band 5 SpO2
  • Huawei Watch Fit 2020
  • Huawei GT2 Pro/GT2e

Garmin

  • Garmin Forerunner
  • Garmin Vivoactive 4

Fitbit

  • Fitbit Versa 3
  • Fitbit Sense

Xiaomi

  • Mi Band 5
  • Mi Watch

Samsung

  • Samsung Galaxy Watch3

 

SpO2 นับว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ถึงกระนั้น การป้องกันก็ดีกว่าการตามแก้ไขนะ ยังไงเพื่อน ๆ ก็อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้านกันด้วยนะครับ

 

ที่มา

  • 1 Study explains fluctuation in blood oxygenation levels in COVID-19 patients | Aninews
  • 2 Covid-19: Patients to use pulse oximetry at home to spot deterioration | BMJ
  • 3 Pulse Ox Pulse Oximetry Functionality | Garmin

 

 

06/01/2021 09:25 AM